'อนุทิน' เบรกปิดผับตี 4 ลั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาท่องเที่ยว

'อนุทิน' เบรกปิดผับตี 4 ลั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาท่องเที่ยว

"อนุทิน" เบรกปิดผับตี 4 ย้ำตี 2 เหมาะสมแล้ว ลั่นต้องไม่แก้ปัญหาท่องเที่ยวด้วยวิธีแบบนี้ เตรียมหารือร่วมกับรมว.การท่องเที่ยวฯ ด้าน "นักวิชาการ" ค้านทำคนเข้าถึงน้ำเมามากขึ้น

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมชง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิงย่านแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ให้ปิดสถานบันเทิงตอน 04.00 น.จากปกติปิดในเวลา 02.00 น. โดยเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 25 %นว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้กับตนแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้จะพิจารณาไปในทิศทางใดนั้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในทุกมิติ

“ผมว่าการให้สถานบันเทิงปิดตี 4 จะดึกเกินไป ปัจจุบันที่ปิดตี 2 ก็ดีและพอแล้ว ซึ่งก็จะหารือเรื่องนี้ร่วมกับรมว.การท่องเที่ยวฯว่าต้องไม่ใช้การแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวด้วยวิธีแบบนี้” นายอนุทิน กล่าว

ด้านนพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากหากพิจารณาปัญหาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 3 ปัญหาคือ การเข้าถึง เรื่องราคา และเรื่องการตลาด ซึ่งกรณีเวลาการขายจะอยู่ในปัญหาของการเข้าถึง ทำให้คนเข้าถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น จะสวนทางกับการแก้ไขปัญหามาตลอด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีมาตรการทางกฎหมายในเรื่องการควบคุมเวลาการจำหน่ายให้ถึงตี 2 ก็ไม่เห็นคัดค้าน จนกระทั่งมาตอนนี้ ก็แปลกใจเช่นกันว่า เพราะอะไรจะมาขยายเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอว่า หากขยายเวลาปิดเป็นตี 4 แต่ใช้วิธีจัดโซนนิ่งบางพื้นที่ นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เกิดผลกระทบอยู่ดี ทั้งผลกระทบในบริเวณโซนนิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมากที่มาเที่ยวมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงเกิดการทะเลาะวิวาท ขณะที่บุคคลจากพื้นที่อื่นๆ ก็จะมาที่จัดโซนนิ่งนี้ อย่าลืมว่า เมื่อมาจากพื้นที่อื่น มีการขับรถ ก็เสี่ยงเมาแล้วขับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วไม่ขับ ดังนั้น ประเด็นข้อเสนอดังกล่าวต้องคิดดีๆ เพราะจะเกิดผลกระทบมาก เนื่องจากทุกวันนี้ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่ภาครัฐต้องจ่ายไปก็เทียบเท่ากับประมาณร้อยละ 1 ของจีดีพี(GDP) แล้ว แทนที่จะเอาส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นๆ และหากขยายเวลาอีกก็ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรัฐแน่นอน หากจะคิดว่า การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ก็ต้องเปรียบเทียบกับมิติอื่นๆด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-'อนุทิน' ลั่น! ตัดหาง 250 ส.ว. ระดมทุกพรรค 376 เสียงเลือกนายกฯ
-'อนุทิน' เผยห้วยเสนง หล่อเลี้ยงสุรินทร์-บุรีรัมย์ยังวิกฤติ
-'อนุทิน' ย้ำผู้ป่วยพบรพ.เอกชน คิดค่ารักษาแพง ต้องไม่ไปใช้บริการ
-ฐานต้องแน่น! 'อนุทิน' ชู Thailand First เสริมแกร่งเศรษฐกิจชาติ