"มาเรียม" อยู่ในห้องแช่แข็ง-20 องศา รักษาหนังรอสตัฟฟ์

"มาเรียม" อยู่ในห้องแช่แข็ง-20 องศา รักษาหนังรอสตัฟฟ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ประเมิน ใช้เวลาไม่ตำ่กว่า 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ

นายวัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยาขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กล่าวว่า ขณะนี้ อพวช. ได้เก็บรักษามาเรียมลูกพะยูนเอาไว้ในห้องแช่แข็งลบ 20 องศาเพื่อคงสภาพผิวหนังของมาเรียมไม่ให้เน่าเปื่อย

ส่วนเรื่องการสตัฟฟ์นั้น ต้องรอปรึกษากับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายอีกครั้งก่อนทำการสตัฟฟ์

โดยนายวัชระกล่าวว่า การสตัฟฟ์สัตว์คือการนำหนังของสัตว์ที่ตายลงมาทำการรักษาสภาพไว้ให้ใกล้เคียงกับตอนมีชีวิตในสภาพการเก็บแบบแห้งโดยไม่มีโครงกระดูกและกระโหลกศีรษะ

"การสตัฟฟ์สัตว์ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อให้ผลงานออกมาเหมือนจริงมากที่สุดโดยเฉพาะ Anatomy หรือกายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้นๆ

สัตว์ที่จะนำมาสตัฟฟ์จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดีไม่ให้ชำรุดเสียหายจากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนู และแมลงสาบที่อาจทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ได้" นายวัชระกล่าว

ซึ่งความยากของการสตัฟฟ์มาเรียมในครั้งนี้คือ การรักษาสภาพหนังของมาเรียม เพราะหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเช่นวาฬ โลมา และพะยูนนั้น จะมีไขมันค่อนข้างหนามากแทรกอยู่ จึงมีความยากกว่าการสตัฟฟ์สัตว์บก

ดังนั้น จึงต้องนำหนังผ่านกระบวนการเพื่อให้ไขมันออกจากหนังให้มากที่สุด มิฉะนั้นหนังจะเปียกเยิ้มไม่แห้ง และไม่สามารถขึ้นรูปให้คงสภาพตามที่ต้องการได้

นอกจากนี้อาจเกิดการเปื่อยยุ่ย ขึ้นรา เน่าเสียหรือเสียหายได้ง่าย และยังต้องใช้การขึ้นรูปให้เสมือนจริงที่สุด รวมถึงเย็บผิวหนังและตกแต่งลักษณะภายนอกให้ถูกต้องและสวยงามอีกด้วย

นอกจากการสตัฟฟ์แล้ว โครงกระดูกมาเรียมยังสามารถนำมาต่อเพื่อเก็บไว้ศึกษาต่อได้อีก และทำหุ่นจำลองไว้หลายที่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และจดจำน้องมาเรียมตลอดไป นายวัชระกล่าว

มาเรียมเป็นลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6-7 เดือนที่ถูกพบเกยตื้นเป็นตัวแรกๆของปีนี้ที่บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณาร่วมกันนำมาเรียมไปอนุบาลในสภาพธรรมชาติในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน และนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการอนุบาลลูกพะยูนในสภาพธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม มาเรียมป่วยลง ก่อนติดเชื้อจากพลาสติกอุดตันในลำไส้ จนเกิดอาการช๊อคและตายลงในที่สุด เจ้าหน้าที่จึงได้เคลื่อนย้ายซากมาเรียมมายังพิพิธภัณฑ์เพื่อทำการสตัฟฟ์ต่อไป

ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์  ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาได้ให้ความสำคัญกับบงานด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและการเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด โดยเฉพาะการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่อย่าง Taxidermy

ด้วยความพร้อมด้านบุคลากรเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์และนำมาจัดแสดงนิทรรศการมากมาย ถือเป็นมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย

ในกรณีของมาเรียม ทางด้านด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กำลังวางแผนและหารือเรื่องวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้สมบูรณ์และดีที่สุด โดยจะดำเนินการสตัฟฟ์หลังงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี2562 เสร็จสิ้นลง ซึ่งคาดว่าการสตัฟฟ์มาเรียมจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ดร.บริพัตรกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง

อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพมีการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการเก็บรักษาและจัดแสดงผ่านตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์เกือบทุกกลุ่ม

ซึ่งการสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสานกับศิลปะ ทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ซึ่งทาง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้นของประเทศที่มุ่งมั่นทำการศึกษาและพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด ดร.รวินกล่าว

ภาพ มาเรียมก่อนถูกส่วมาสตัฟฟ์ที่พิพิธภัณฑ์/ อส.