โนเกียยึดตลาด 5จี ไทย ส่ง "โซลูชั่นดิจิทัล" ลุย

โนเกียยึดตลาด 5จี ไทย ส่ง "โซลูชั่นดิจิทัล" ลุย

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเชื่อมต่อการสื่อสารไร้สายมากที่สุด

โนเกียหวังยึดหัวหาดตลาด 5จีในไทย เดินเครื่องส่งสารพัดโซลูชั่นตอบโจทย์อุตสาหกรรมในประเทศ ชี้ 4 คีย์สำคัญจะช่วยไทยประสบความสำเร็จได้ต้องได้แรงบวกจากหลายส่วน โปรยยาหอมมีโรดแมปคลื่น 5จีไว้หลายย่ายความถี่จะช่วยให้เอกชนทำงานง่ายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นายเซบาสเตียน โลฮอง ผู้อำนวยการ บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเชื่อมต่อการสื่อสารไร้สายมากที่สุด โดยมีปริมาณการสมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 133% จากจำนวนประชากร 69.24 ล้านคน คิดเป็น 82% ของจำนวนทั้งหมดนี้มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยี 5จีที่กำลังมาถึงตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมไปถึงรัฐบาลเองมีความตั้งใจจะผลักดันให้เกิด 5จีภายในปลายปี 2563 เพื่อนำมาสนับสนุนการบริหารงานในประเทศให้เป็น 4.0

ในมุมภาพรวมของจำนวนผู้ใช้ 5จี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเพิ่มจาก 54% เป็น 82% จากปี 2560 ถึงปี 2568 นอกจากนี้ จะเกิดตลาดใหม่ในหลายๆอุตสาหกรรมทั้ง มีฟิกซ์ ไวร์เลส แอ็คเซ็ส 5จีที่ไม่ต้องใช้สายไฟเบอร์ออฟติก มีการเชื่อมต่อกับรถยนต์ และยานพาหนะที่ไร้คนขับ ซึ่งที่ผ่านมา โนเกียได้ให้บริการเครือข่ายแก่ลูกค้าไปแล้วในหลายประเทศที่ทยอยเปิดให้บริการ 5จี จากปัจจุบันที่โนเกียมีลูกค้า 4จีอยู่ 346 รายทั่วโลกและเชื่อว่าจากลูกค้าจำนวนนี้จะเปลี่ยนมาสู่ 5จีได้ในไม่ช้า ซึ่งล่าสุดโนเกียได้ลงนามในสัญญากับผู้ให้บริการทั่วโลก 45 สัญญา

โดยในส่วนของโนเกียมองว่าภาคธุรกิจและองค์กรในประเทศจะต้องปรับตัวเตรียมรับกับสถาปัตยกรรมของโครงสร้างพื้นฐานในระบบใหม่ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมาให้บริการแก่ประชาชนและผู้บริโภค ซึ่งในแง่ของโนเกียเองได้เตรียมความพร้อมของบริษัทในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของโนเกีย เบลล์ แล็บส์ สำหรับการออกแบบเครือข่าย 5จีครบวงจรให้มีความปลอดภัยในระบบขั้นสูง ช่วยทำให้การทำงาน การเข้าถึง และการใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่จะช่วยปฎิวัติผู้ใช้บริการ เศรษฐกิจและสังคม

สำหรับโซลูชั่นที่เหมาะกับไทยนั้น เขา กล่าวว่า เพื่อที่จะบูรณาการระบบภายในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความซับซ้อน โนเกียมองว่าระบบอัตโนมัติและการรวมกันของข้อมูลจะสามารถช่วยองค์กรในภาคต่างๆได้ ประกอบด้วย 1.ระบบการผลิตแบบแทคไทค์ผ่าน 5จี ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าระบบการผลิตผ่าน 5จีจะสนับสนุนสายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม 2.ระบบอัตโนมัติแบบดิจิทัลเพื่อการผลิต โดยจะเป็นการสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อป้องกันความผิดพลาดของเครื่องมือและเครื่องจักรอุตสาหกรรมโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และ 3.การปฎิบัติงานท่าเรืออัจฉริยะ (สมาร์ท ฮาร์เบอร์) ซึ่งระบบ5จีจะช่วยให้การตอบสนองรวดเร็วความหน่วงต่ำ เพิ่มคุณค่าให้กับระบบการทำงานของท่าเรือในด้านการเข้า-ออกได้ดีขึ้น

“ในไทยเองโนเกียมองว่าจะปัจจัยที่จะส่งผลสำเร็จอยู่ 4 ด้าน คือ การขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จจะต้องได้การแรงผลักดันจากรัฐบาล ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตอุปกรณ์ และสุดท้ายคือตัวผู้ใช้งานเอง นอกจากนี้ มองว่าการกสทช. กำหนดย่านความถี่สำหรับ 5จีให้มีความหลากหลายในย่านความถี่คือ 2600 3500 เมกะเฮิรตซ์ รวมไปถึง 26-28 กิกะเฮิรตซ์ จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ผู้ประกอบการได้ดีมากขึ้น และที่สำคัญภาครัฐควรหายูสเคสการใช้งาน 5จีจริงให้เกิดให้ได้สำหรับตลาดไทย”