เปิดแนวคิด 'เอดับบลิวเอส’ ชูนวัตกรรมหนุนปฏิรูปธุรกิจ

เปิดแนวคิด 'เอดับบลิวเอส’ ชูนวัตกรรมหนุนปฏิรูปธุรกิจ

ต้องพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง เป็นผู้ดิสรัปตลาด ไม่ยอมถูกดิสรัป

ช่วงสองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉม โดยมีเมกะเทรนด์เทคโนโลยีอย่าง คลาวด์ เข้ามาเปิดทางให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ กระทั่งวันนี้กล่าวได้ว่าคลาวด์กลายเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักที่ทุกองค์กรในทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและมีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม

ในตลาดนี้หนึ่งในผู้เล่นที่มาแรงคือ “อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” หรือ “เอดับบลิวเอส” แม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานทว่าสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดทุกปี

ในงาน “AWS Open House” ที่ทางอะเมซอนเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมสำนักงานแห่งใหม่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอดับบลิวเอส ให้สัมภาษณ์ว่า เส้นทางและการเติบโตของบริษัทในประเทศไทยสอดรับไปกับปรัชญาการทำงานของบริษัทแม่ในระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับให้ความสำคัญกับลูกค้า การพัฒนานวัตกรรม และความอดทน

“เอดับบลิวเอสเป็นบริษัทโตเร็ว ขณะนี้มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 52% ทว่าแม้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแต่เรายังคงมองตลาดเหมือนเป็นเพียงช่วงของการเริ่มต้น และจากนี้จะต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ดิสรัปตลาด ไม่ยอมถูกดิสรัป พยายามหาวิธีการทำงานให้เร็วขึ้น พร้อมพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเติมอยู่ตลอดเวลา เฉพาะปีที่ผ่านมาเปิดตัวบริการใหม่กว่า 1,957 รายการ”

ตัดสินใจด้วยความเร็วสูง 

เขากล่าวว่า การวางลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) ให้ความสำคัญกับความคลั่งใคล้ในลูกค้า (customer obsession) รับฟังความคิดเห็น เฝ้าสังเกตความต้องการ พร้อมทั้งปรับปรุงประสบการณ์ของพวกเข้าให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่มากขึ้น พบได้บ่อยครั้งว่ากระบวนการในการทำงานจะได้รับความสนใจมากกว่าลูกค้า คนในองค์กรจะมุ่งเน้นที่การทำตามกระบวนการที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาจึงมักตั้งคำถามเสมอว่า “เราเป็นเจ้าของกระบวนการการทำงาน หรือกระบวนการเป็นเจ้าของตัวเรา?”

นอกจากนี้ ที่สำคัญมีการตัดสินใจด้วยความเร็วสูง เนื่องด้วยความเร็วมีผลอย่างมากต่อการทำธุรกิจ การตัดสินใจจำนวนมากสามารถย้อนกลับได้และการตัดสินใจส่วนใหญ่ควรทำเมื่อมีข้อมูลประมาณ 70% เพราะหากรอให้ได้ข้อมูลมากถึง 90% อาจจะช้าเกินไป

สำหรับวิธีการในการจัดการนวัตกรรม จำต้องมีวิธีการ (Mechanisms) องค์กรไม่สามารถดำเนินงานด้วยความคิดหรือปรัชญาเพียงอย่างเดียว ต้องมีการหลอมรวมวิธีการต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อการดำเนินการจริง

โดยวิธีการที่เลือกใช้เช่น กระบวนการในการทำงานย้อนกลับหลังโดยเอาผลลัพท์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นตัวตั้งต้น (working backwards) นอกจากระดับผู้บริหารให้อำนาจในการตัดสินใจกับพนักงานที่อยู่ในฝ่าย มีระบบอัตโนมัติที่ช่วยตรวจสอบมาตรฐาน กระบวนการสำหรับแก้ไขข้อผิดพลาด

ด้านการพัฒนาสถาปัตยกรรม (Architecture) ต้องยืดหยุ่น มีการบริการเป็นศูนย์กลาง (service-oriented) พร้อมแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกันอย่างหลวมๆ เพื่อให้สามารถปรับขยายขนาด (scale) และเพื่อความเร็ว (speed) ได้ ขณะเดียวกันบริการเอพีไอเปิดกว้างสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ใช้งานได้แบบออนดีมานด์ 

พร้อมกันนี้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือ ทั้งด้านการว่าจ้าง การประเมินประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กรให้ไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ละทีมมีคน 4-10 คน ทีมใดก็ตามที่เติบโตเกินกว่า 11 คนมักจะเพิ่มความล่าช้าเป็นทวีคูณ

’นวัตกรรม’ เปิดทางรอด

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค หนึ่งในลูกค้าของเอดับบลิวเอส กล่าวว่า องค์กรธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านประกอบด้วย เทคโนโลยี ลูกค้า และสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยเฉพาะกับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่

บริษัทมีมุมมองว่านวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจทรานส์ฟอร์มได้ ขณะที่สิ่งที่ยากที่สุดของการพัฒนาเพื่อใช้นวัตกรรมใหม่ๆ คือการนำมาติดตั้งปรับใช้ เอ็มเฟคเองแม้กับโมเดลธุรกิจในรูปแบบผู้ติดตั้งระบบ(เอสไอ) ของตัวเองก็มีมุมมองว่ามีโอกาสตายได้ในเร็วๆ นี้ ดังนั้นจำต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจพร้อมปรับให้ดีเอ็นเอมีนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน

เจฟฟ์ เบซอส ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อะเมซอนดอทคอม อิงค์ กล่าวไว้ว่า การสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบและมีผลลัพท์หลายระดับ แต่การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่และมีผลในการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด คือการสร้างสิ่งที่สามารถเป็นพลังให้กับผู้อื่นในการต่อยอดความคิด เพื่อการไล่ตามความฝันของพวกเขา