เกษตรกรเตรียมเฮ! 'ประภัตร' จับมือจีน ลุยส่งออกโคเนื้อ

เกษตรกรเตรียมเฮ! 'ประภัตร' จับมือจีน ลุยส่งออกโคเนื้อ

เกษตรกรเตรียมเฮ! “ประภัตร” จับมือจีน ลุยส่งออกโคเนื้อ 2,000 ตัว/วัน รับซื้อกก.ละ 100 บาท

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.62 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการหารือการค้าเพื่อส่งออกโคเนื้อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมชาย ดวงเจริญ ผู้ประกอบการบริษัท LS trading export import Co Ltd ฝ่ายลาว และนายหยางเจียง ผู้จัดการบริษัท LS chengkang ฝ่ายจีน ณ ห้องประชุม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การหารือกันในวันนี้ ทั้ง 3 ฝ่าย ต่างมีความยินดีในการค้าโคเนื้อร่วมกัน อย่างไรก็ตามไทยกับจีนยังไม่สามารถเจรจาการค้าได้โดยตรง จึงใช้บริษัทของลาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกจากจีนเป็นตัวกลางในการส่งต่อโคเนื้อของไทย พร้อมกันนี้ จีนได้กำหนดคุณสมบัติของโคที่จะรับซื้อ จะต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่งออก วันละ 2,000 ตัว โดยลาวจะนำโคจากไทยไปเลี้ยงต่ออีก 45 วัน ที่คอกโคขุนเพื่อเตรียมน้ำหนักของโค จากนั้นเข้าคอกกักกันโรคอีก 30 วัน รวม 75 วัน จึงจะสามารถส่งข้ามไปจีนได้ ทั้งนี้ จีนมีความต้องการเนื้อโคสำหรับบริโภคในประเทศอีกราว 9 ล้านตัน หรือคิดเป็นโคมีชีวิต ประมาณ 40 ล้านตัวต่อปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้แทนฝั่งไทยในการเจรจารายละเอียดความร่วมมือต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ไทยและกรมปศุสัตว์ลาวจะร่วมมือกันในการตรวจรับรองคอกโคขุน และคอกกักกันโรคในฝั่งไทยก่อนมีการส่งออก อีกทั้งเน้นย้ำให้มีมาตรการในการตรวจโรคสำคัญ อาทิ โรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งจีนได้เข้มงวดในการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาด นอกจากนี้กรมปศุสัตว์จะเริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมของเกษตรกร โดยสร้างการรับรู้ที่ดี ปรับปรุงระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้น้ำหนักวัวได้มาตรฐานผลิตจากฟาร์ม GAP หรือฟาร์มปลอดโรค ของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น

“สำหรับบทบาทหน้าที่ของไทย จะวางแผนเตรียมการในกระบวนการผลิต การรวมกลุ่มเกษตรกร หาพื้นที่เพื่อวางฐานการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้มีนโยบายที่จะให้มีคอกขุนกลาง เลี้ยงโคจำนวน 1,000 ตัวในพื้นที่เป้าหมายแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นทั้งคอกขุนในช่วงที่ต้องเพิ่มน้ำหนักโคให้ได้ตามคุณสมบัติที่จีนกำหนด ขณะเดียวกันต้องเป็นคอกมาตรฐานกักกันโรค และได้มารตฐานฟาร์มโคเนื้อเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศอีกด้วย” นายประภัตร กล่าว