'ดีอี' ตั้ง 25 อรหันต์ไล่ล่า 'Fake News'

'ดีอี' ตั้ง 25 อรหันต์ไล่ล่า 'Fake News'

รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งเครื่องนโยบายปราบข่าวปลอม ประกาศตั้ง “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” ดึงตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งรัฐ หน่วยงานสื่อสาร/โทรคมนาคม สาธารณสุข ความมั่นคง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ล่าสุดจึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานกรรมการ พร้อมดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการ

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมฯ มีทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งนอกเหนือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดดีอี ยังมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาชั้นนำในสาขานิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนจากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

“ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม ในการปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือ โดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไปจากข้อเท็จจริง ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็ก เยาวชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติ ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ขณะเดียวกัน สภาพความท้าทายในปัจจุบันด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสื่อสังคมอนไลน์และสื่อในระบบอินเทอร์เน็ต เห็นได้จากปริมาณเว็บไซต์ที่เข้าข่ายการกระทำความผิด หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีจำนวนมากที่ต้องดำเนินการ อีกทั้งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องเชิงบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับประเทศ

ดังนั้น การบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีตัวแทนเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานป้องกัน และการระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูล ข่าวสารอันเป็นเท็จ และไม่เหมาะสม มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ให้เกิดความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ทั้งยังเสริมสร้างการตระหนักรู้เท่าทันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง

ทางด้านอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ จะครอบคลุม การวางแผนการดำเนินงานและแผนการเผยแพร่ ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ ติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง และจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ รวมทั้ง ดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข้อมูลข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน และสาธารณะชน ผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รายงานผลการดำเนินงานต่อ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิบัติงานในการประสานงาน และแก้ไขปัญหาข่าวปลอม