กสทช.ถกร่วม "เฟซบุ๊ค-ยูทูบ" เร่งหาโมเดลเก็บรายได้โอทีที

กสทช.ถกร่วม "เฟซบุ๊ค-ยูทูบ" เร่งหาโมเดลเก็บรายได้โอทีที

จ่อชงที่ประชุมเรกูเลเตอร์อาเซียน-เสนอตั้งศูนย์ยืนยันข้อมูลในปท.

กสทช.หาแนวร่วมสมาชิกอาเซียน ดูโมเดลเก็บรายได้จากบริการ “โอทีที” ทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ พร้อมชงกรอบพิจารณา 3 ประเด็น ต้องไม่ให้กระทบผู้ใช้งาน หารายได้เข้ารัฐตามเหมาะสม ผู้ให้บริการทุกรายต้องอยู่รอด “ฐากร” การันตีแนวโน้มผ่านฉลุยได้ข้อสรุปแน่ เสนอไอเดียตั้งศูนย์ยืนยันข้อมูลกลางแต่ละประเทศ ให้โอทีทีเลือกบริษัทกลางมาตรวจสอบ ขณะที่ "เฟซบุ๊ค" รับลูกแต่ขอคุยรายละเอียดอีกครั้ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการประชุมของผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม (เรกูเลเตอร์) ในภูมิภาคอาเซียน หรือ การประชุม ASEAN Telecommunication Regulator’s Council : ATRC ครั้งที่ 25 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ ล่าสุด วานนี้ (19 ส.ค.) คณะทำงานด้านการเตรียมความพร้อมบริการอื่นที่อยู่บนโครงข่ายโทรคมนาคม (โอเวอร์ เดอะ ท๊อป หรือ โอทีที) อาทิ เฟซบุ๊ค เฟซบุ๊คไลฟ์ ยูทูบ ไลน์ ไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ และ ทวิตเตอร์ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้โอทีทีเข้าประเทศของสมาชิก 10 ประเทศในอาเซียน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ATRC หลังจากเรื่องนี้ได้หารือร่วมกันตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวมั่นใจว่า การประชุมครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุป เพราะผู้ให้บริการโอทีทีรายใหญ่ของโลก ได้แก่ เฟซบุ๊ค ,ไลน์,อเมซอน,เน็ตฟลิกซ์ และวอล์ทดิสนีย์ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมด้วย โดยส่งตัวแทนเป็นผู้บริหารด้านกฎหมายที่ประจำอยู่ที่สิงคโปร์มาร่วมหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ จนกว่าจะมีมติที่ประชุมของ 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งการกำหนดการเก็บค่าบริการโอทีทีนั้น จะเป็นการกำหนดกรอบกว้าง เพื่อให้แต่ละประเทศลงรายละเอียดที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศเอง ซึ่งประเทศไทยได้เสนอเงื่อนไขในการเก็บค่าบริการโอทีที 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าบริการของประชาชน 2.ต้องมีรายได้เข้าประเทศ และ3.ขอให้โอทีทีให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้

“การขยายตัวของบริการโอทีทีในวันนี้ สร้างความท้าทายให้กับผู้กำกับดูแลทั่วโลก เพราะมีประเด็นเชิงนโยบายมากมาย ตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บภาษีของรัฐ ไปจนถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูล และการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย การจัดให้มีอภิปราย และการร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้แก่ ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ให้บริการโอทีทีและผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว”

นายฐากร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอให้โอทีทีดำเนินการเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้รวดเร็วขึ้น ด้วยการจ้างบริษัทกลางที่เชี่ยวชาญด้านนี้ในการจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล (เวอร์ริฟาย) เพื่อเป็นศูนย์สำหรับประสานงานกับบริการโอทีทีในประเทศอาเซียนศูนย์ละ 1 ประเทศ แม้ว่าทางโอทีที เช่น เฟซบุ๊คจะมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ตนยืนยันว่าระยะเวลาตรวจสอบ 1 เดือนนั้น ช้าไป หากมีบริษัทกลางเข้ามาดูแลโดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบจะเร็วขึ้นเหลือเพียง 1-2 วัน ซึ่งทางเฟซบุ๊คก็ให้ความสนใจและจะคุยกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว โอทีทีสามารถเลือกตัวแทนในประเทศนั้นๆ เพื่อทำหน้าที่ยืนยันข้อมูลได้ทันที โดยกสทช.จะเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ แต่จะโปรโมทให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการและแจ้งข้อมูลเพื่อให้ตรวจสอบได้

โดยโอทีทีต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งเรื่องนี้มองว่าจะเป็นการทำงานส่งเสริมกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการปลอมแปลงเอกสารและมีการปล่อยข่าวลวงกันจำนวนมากกว่าจะตรวจสอบได้ก็ใช้เวลาเป็นเดือน ความเสียหายจึงเกิดขึ้นมาก ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่ตระหนักเรื่องนี้ ทุกประเทศในอาเซียนก็มีความกังวลเรื่องนี้ไม่แพ้กันขณะที่เฟซบุ๊คเองมีรูปแบบการจ้างบริษัทกลางในการตรวจสอบข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 10 บริษัท ดังนั้นจึงควรจะทำกับ 10 ประเทศในอาเซียนด้วย