บิ๊กเนมโรงแรมใส่เกียร์ลงทุน ฝ่าดงปัจจัยลบเที่ยวไทย

บิ๊กเนมโรงแรมใส่เกียร์ลงทุน ฝ่าดงปัจจัยลบเที่ยวไทย

ปัจจัยลบทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตและความผันผวนของค่าเงิน ดาหน้าฉุดกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ยั้ง

ผสานกับปัญหาสุดคลาสสิกอย่างโอเวอร์ซัพพลายหรือห้องพักล้นตลาดในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ได้กลายร่างเป็นพงหนามใหญ่ ท้าทายธุรกิจ “โรงแรมไทย” ให้ฟันฝ่าในปีนี้

รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโรงแรมในเครือเซ็นทารา เล่าว่า แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แต่บริษัทฯยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผน ควบคู่ไปกับการบริหารสัดส่วนลูกค้าจากชาติต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังจาก “นักท่องเที่ยวจีน” เผชิญปัจจัยรุมเร้าจากภาวะค่าเงินผันผวน ทั้งหยวนอ่อนและบาทแข็ง กดดันรายได้จากธุรกิจโรงแรมปีนี้ให้มีแนวโน้ม ทรงตัว

เพราะเมื่อดูเฉพาะตลาดจีนเที่ยวไทย ภาพรวม 6 เดือนแรกมีจำนวน 5.63 ล้านคน ลดลง 5% ลงลึกระดับไตรมาส 2 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น พบว่าหดตัวเกือบ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยปัจจุบันเครือเซ็นทารามีสัดส่วนลูกค้าจีนกำลังดีที่ 15% ใกล้เคียงกับลูกค้าคนไทยซึ่งมีสัดส่วน 16% ขณะที่ลูกค้าอินเดีย ปัจจุบันแม้จะมีแค่ 5% แต่คาดว่าจะเติบโตตามเทรนด์อินเดียเที่ยวไทยที่ขยายตัวกว่า 24% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

“แม้จะมีปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทย แต่ถ้ามาตรการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย และการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคอื่นๆ ได้รับการเห็นชอบ คาดว่าจะส่งผลดี ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก”

โดยบริษัทฯได้วางงบค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 ที่วงเงินรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท ปี 2562 ใช้เงินลงทุน 6,351 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในธุรกิจโรงแรม 3,200 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1,531 ล้านบาท และเตรียมไว้สำหรับโครงการที่มีศักยภาพ (Potential Project) ทั้งโรงแรมและอาหารที่ 1,612 ล้านบาท

ส่วนปีหน้า 2563 จะใช้เงินลงทุน 10,876 ล้านบาท แบ่งเป็นสำหรับธุรกิจโรงแรม 4,174 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1,095 ล้านบาท และ Potential Project ถึง 5,607 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 จะใช้เงินลงทุน 9,961 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 3,638 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1,049 ล้านบาท และ Potential Project 5,274 ล้านบาท

“จากการเดินหน้าลงทุนโรงแรม ทำให้ในช่วงปี 2562-2565 เครือเซ็นทาราจะขยายโรงแรมเพิ่มได้อีก 31 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 6,067 ห้อง กระจายทั่วเอเชีย ตะวันออกกลาง และในมหาสมุทรอินเดียหรือที่มัลดีฟส์ เมื่อรวมกับปัจจุบันที่มีอยู่ 40 แห่ง คิดเป็น 7,716 ห้อง จะทำให้มีโรงแรมรวมทั้งหมด 71 แห่ง คิดเป็น 13,783 ห้อง โดยแบ่งเป็นโรงแรมที่เครือเซ็นทาราเป็นเจ้าของ 22 แห่ง ส่วนรับบริหารจะมี 49 แห่ง”

กันยะรัตน์ กฤษณเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯยังคงพัฒนาธุรกิจโรงแรมตามกลยุทธ์ “เพิ่มการเติบโต” ตามแผนที่วางไว้ โดยในปี 2562 มีแผนเปิดให้บริการโรงแรมในไทย จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรมระดับกลางและชั้นประหยัดรวม 2 แห่งในกรุงเทพฯ คือโรงแรม เมอร์เคียว ไอบิส สุขุมวิท 24 ซึ่งเป็นคอมโบโฮเทลหรือมีโรงแรม 2 แบรนด์ในอาคารเดียว มีจำนวนห้องพักมากกว่า 500 ห้อง รวมถึงโรงแรมแบรนด์ “ฮ็อป อินน์” ซึ่งอยู่ในกลุ่มบัดเจ็ตโฮเทลอีก 7 แห่ง ทั้งหมดจะเปิดให้บริการในครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลให้สิ้นปีนี้บริษัทฯมีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 9,559 ห้อง ประมาณการการเติบโตของรายได้ธุรกิจโรงแรมไว้ที่ 7-10% เมื่อเทียบกับปี 2561

ด้านปัญหา โอเวอร์ซัพพลาย ในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย อามาร์ ลาลวานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์โรงแรมแนวไลฟ์สไตล์สัญชาติอเมริกัน “เดอะ สแตนดาร์ด” ที่มีบิ๊กอสังหาริมทรัพย์อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มองว่า โอเวอร์ซัพพลายเป็น “วัฏจักร” ที่ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญอยู่แล้ว จึงยังมั่นใจในธุรกิจนี้ เพราะมองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่า และแสนสิริเองก็เป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ (ดีเวลลอปเปอร์) ที่มากด้วยประสบการณ์

กลยุทธ์ของโรงแรมในการสู้กับปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย จึงหนีไม่พ้นการสร้างความแตกต่างให้กับโรงแรม เพื่อรับมือกับวัฏจักรการท่องเที่ยวของไทยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และมองว่าปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในบางเมืองท่องเที่ยวไม่น่าเป็นห่วง เพราะภาคท่องเที่ยวไทยโดดเด่นเรื่องหาดทรายชายทะเล วัฒนธรรม และฮอสพิทาลิตี้

ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ กรรมการบริหารและที่ปรึกษาอาวุโส บมจ. แสนสิริ และกรรมการบริหาร สแตนดาร์ด อินเตอร์ฯ กล่าวเสริมว่า จากแผนขยายธุรกิจโรงแรม เดอะ สแตนดาร์ด ซึ่งตั้งเป้าเซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมทั้งหมด 25 แห่งกระจายอยู่ทั่วโลกภายใน 5 ปีนี้ โดยกว่า 90% จะอยู่นอกประเทศสหรัฐ และมากกว่า 2 ใน 3 ตั้งอยู่ในเอเชีย เมื่อดูเฉพาะการรับบริหารโรงแรมในไทย ตามแผนจะมี 4 แห่งกระจายตามเมืองท่องเที่ยวชายทะเล แบ่งเป็นโรงแรมเดอะ สแตนดาร์ดที่แสนสิริลงทุนเอง 2 แห่ง คือที่หัวหิน คาดเปิดในปี 2564 และพัทยา เปิดในปี 2566 ส่วนอีก 2 แห่งเป็นของนักลงทุนรายอื่น คือที่สมุย เปิดปี 2563 และภูเก็ต เปิดปี 2565