อว.ตั้งเป้าปี 63 ลงทุน R&D เพิ่มขึ้น 1.2% ต่อจีดีพี

อว.ตั้งเป้าปี 63 ลงทุน R&D เพิ่มขึ้น 1.2% ต่อจีดีพี

"รมว.อว. " เผยประชุมซุปเปอร์บอร์ดนัดแรก กำหนดกรอบนโยบาย กรอบงบประมาณ ตั้งเป้า ปี 63 ลงทุน R&D เพิ่มขึ้น 1.2% ต่อจีดีพี คาดอีก 4-5 ปี สูงขึ้น1.5 % จัดกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ ปี 2563 รวม 37,000 ลบ.

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.62 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)กล่าวภายหลังการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ซึ่งจัดการประชุมสภานโยบายนัดแรก ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า อว.โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าอว. ถือเป็นกระทรวงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงทางเศรษฐกิจที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาเติมเต็มสภากระทรวงอว. รวมถึงมีการพิจารณาตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณ 2 ชุด คือ คณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านอุดมศึกษา และคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงที่ประชุมได้แต่งตั้งให้รมว.อว.เป็นประธานกรรมการอำนวยการของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูแล การอำนวยการออฟฟิคของสำนักงานสภานโยบายฯ เป็นสำคัญ

“ที่ประชุมได้มีการกำหนดกรอบนโยบาย และกรอบงบประมาณ โดยเปอร์เซนต์ของการวิจัยต่อจีดีพี ไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1% กว่าๆ ภารกิจสำคัญของสภานโยบายฯชุดนี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในปี 2563 ไว้ที่ 1.2% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 212,340 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 25% หรือประมาณ 53,085 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 75% หรือประมาณ 159,255 ล้านบาท ทั้งนี้ ในรอบสำรวจปัจจุบัน ปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ 1% ต่อจีดีพี และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐที่ 25% ในปี 2563 จึงได้มีการเสนอขอกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 37,000 ล้านบาท และคาดว่า4-5 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 %” นายสุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การวิจัยแต่เดิมจะเป็นเบี้ยหัวแตก แต่ตอนนี้จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น โดยงานวิจัยต้องดำเนินการ 4 แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนงานและโครงการต่าง ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้คมชัดยิ่งขึ้น โดยทั้ง 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการตั้งหน่วยงานบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านขึ้นมาช่วยบริหารจัดการ