ดีเดย์! 19ส.ค.62 ติดปัญหา รพ.สธ.หลายแห่งยังไม่เปิดบริการกัญชาทางการแพทย์

ดีเดย์! 19ส.ค.62 ติดปัญหา รพ.สธ.หลายแห่งยังไม่เปิดบริการกัญชาทางการแพทย์

ดีเดย์! 19ส.ค.62 รพ.สธ.หลายแห่งยังไม่เปิดบริการกัญชาทางการแพทย์ เหตุสารสกัดกัญชายังไม่ถึง -ต้องเตรียความพร้อมระบบ ขณะที่อย.วางระบบติดตาม 2 ส่วนสำคัญ ปริมาณการใช้-ผลกระทบต่อผู้ป่วย

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เริ่มทยอยเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) 12 แห่งทั่วประเทศ ในเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต เขตละ 1 แห่งได้แก่ 1.รพ.ลำปาง 2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.ราชบุรี 6.รพ.ระยอง 7.รพ.ขอนแก่น 8.รพ.อุดรธานี 9.รพ.บุรีรัมย์ 10.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 11.รพ.สุราษฎร์ธานี และ 12.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสารสกัดกัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ล็อตแรกที่เป็นสูตรทีเอชซีเด่นที่จะใช้ในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ที่เป็นผลข้างเคียงจากการรับเคมีบำบัดและปวดรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งเป็นหลัก จำนวน 4,500 ขวด จะจัดส่งถึงรพ.ทั้ง 12แห่งภายในวันที่ 19 ส.ค.2562 และน่าจะเปิดให้บริการประชาชนได้นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวได้มีการสอบถามไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งที่เป็น 1 ใน 12 แห่งที่จะเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในระยะแรกพบว่า ยังไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยบางแห่งสารสกัดกัญชาจากอภ.ยังส่งไปไม่ถึง และบางแห่งยังต้องเตรียมระบบการให้บริการให้มีความพร้อมก่อน

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีสูงจากอภ. จะส่งมาถึง รพ.ขอนแก่นในช่วงบ่ายวันที่ 19 ส.ค. เนื่องจากล็อตของ รพ.ขอนแก่น เป็นรถคันที่ 3 ที่ออกมาหลังสุด ซึ่งหลังจากส่งสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้ รพ.ขอนแก่นแล้ว ก็จะเลยไปยัง รพ.อุดรธานีต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 19 ส.ค.2562 จึงยังไม่มีการให้บริการจ่ายยากัญชาทางการแพทย์แต่อย่างใด คาดว่าจะเริ่มให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งคลินิกกัญชา รพ.ขอนแก่น จะเปิดทุกวันอังคารช่วงเวลาบ่าย ส่วนวันนี้จะเป็นการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยไปก่อน ซึ่งก็มีผู้ป่วยเข้ามารับคำปรึกษาบ้าง แต่ยังไม่ได้รับรายงานชัดๆ ว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าไร โดยจะให้คำแนะนำและคัดกรอว่ามีอาการเข้าได้กับที่ต้องใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์หรือไม่

เช่นเดียวกับ นพ.ภูษิต ทรัพย์สมพล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.ระยอง กล่าวว่า รพ.ระยองได้ออกใบสั่งซื้อสารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตรทีเอชซีสูงต่อ อภ.ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งขณะนี้ตนมาราชการที่ต่างจังหวัด จึงไม่แน่ใจว่าสารสกัดกัญชามาถึงแล้วหรือไม่ แต่ตามกำหนดน่าจะมาถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์ รพ.ระยอง มีการวางแผนว่าจะเปิดให้บริการในการจ่ายยากัญชาในวันที่ 4 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องของการจัดส่งยาทั้งจาก อภ.และอีกส่วนจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และจะมีเพิ่มจำนวนแพทย์และเภสัชกรที่สามารถสั่งใช้ยากัญชาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลมีแค่แพทย์ 1 คน และเภสัชกร 1 คน ที่ผ่านการอบรม โดยสัปดาห์หน้าจะส่งแพทย์และเภสัชกร 4-5 ราย เข้าอบรมผ่านระบบออนไลน์ของกรมการแพทย์

“ระหว่างนี้ รพ.ระยองจะให้บริการคำปรึกษากัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย ว่าอาการเป็นอย่างไร เข้าได้กับโรคที่มีข้อบ่งชี้หรือไม่ หากอาการเข้าได้และมีความจำเป็นต้องรับยากัญชาก็จะส่งเข้าคลินิกเพื่อจ่ายยากัญชาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นตนได้รับรายงานจากทีมว่า วันนี้มีผู้ป่วยขอรับคำปรึกษาประมาณ 9-10 ราย โดยมีอาการเข้าได้กับโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาประมาณ 4 ราย” นพ.ภูษิตกล่าว

ขณะที่นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการ รพ.สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สระบุรี ไดรับสารสกัดกัญชาจาก อภ.แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายยาแต่อย่างใด คาดว่าอาจจะเกิดความเข้าใจผิด คือ สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จาก อภ.จะจัดส่งมาถึงโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 แห่งภายในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถจ่ายยากัญชาได้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมระบบต่างๆ และทำความเข้าใจหารือถึงวิธีในการใช้ก่อน ซึ่งตามที่มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน กรมการแพทย์จะเป็นผู้จัดทำแพคเกจการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เพื่อสื่อสารเข้าใจอย่างตรงกัน เช่น โปสเตอร์ที่จะติดในคลินิก รายละเอียดเอกสารการให้คำแนะนำ รวมไปถึงใบยินยอมรับการรักษาที่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็น เพราะสารสกัดกัญชาแม้จะผลิตอย่างปลอดภัย ก็ยังเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วย หากอาการเข้าได้กับข้อบ่งชี้ในการรักษา ก็จะมีการเซ็นใบยินยอมนี้

นพ.อนันต์ กล่าวว่า ทั้งนี้ รพ.สระบุรี จะเริ่มเปิดให้บริการคำปรึกษาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของ ส.ค.นี้ โดยจะเปิดให้บริการในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ เพื่อให้คำปรึกษาและคัดกรองผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดทีเอชซี ซึ่งข้อบ่งชี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาคีโม โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายยากัญชาได้จริงคือช่วง ก.ย.เป็นต้นไป ซึ่งก็จะพอดีกับการที่ รพ.สระบุรี จะส่งแพทย์และเภสัชกรไปอบรมกัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ รพ.สระบุรี มีแพทย์ 2 คน แพทย์แผนไทย 2 คน และเภสัชกร 1 คนที่ผ่านการอบรมแล้ว

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังไม่ได้มีการรายงานเข้ามาว่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะมีการรายงานเข้ามาเบื้องต้นว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะดำเนินการอย่างไรบ้างในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมวอร์รูมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งประชุมทุกสัปดาห์ในวันพุธ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ระบบติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์นั้น ในระยะแรก อย.ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การติดตามปริมาณการสั่งใช้สารสกัดกัญชา ซึ่งตามระบบจะต้องรายงานมายัง อย.เป็นรายเดือน แต่ในช่วงเริ่มต้นจะให้มีการรายงานเร็วขึ้น โดยให้รายงานทุก 2 สัปดาห์ และ 2.รายงานในส่วนของผู้ป่วยทั้งในผู้ที่รับบริการเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ที่เริ่มใช้สารสกัดกัญชาในการรักษา โดยให้รายงานเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ว่ามีปัญหาหรือผลกระทบอะไรหรือไม่ในการให้บริการระยะแรก

“ระบบติดตามที่ อย.วางไว้นั้น จะทำให้ทราบข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศว่า ผู้ป่วยมีความต้องการใช้จริงๆ กี่คน และใช้ปริมาณเท่าไร เพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง ในการนำมาจัดระบบสนับสนุนการให้บริการ ซึ่งระยะแรกที่เป็นการให้บริการแบบวิจัยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme หรือ SAS ผลดีคือจะทำให้ทราบถึงผลการรักษาต่อกลุ่มโรค รวมถึงภาวะแทรกซ้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร” นพ.ธเรศกล่าว