'ยูธ มิเตอร์' หยดปัสสาวะบอกอายุชีวภาพ

'ยูธ มิเตอร์' หยดปัสสาวะบอกอายุชีวภาพ

“ยูธ มิเตอร์” (Youth Meter) ชุดตรวจวัดความเยาว์วัยจากฮอร์โมนในหยดปัสสาวะ แสดงผลเป็นตัวเลข “อายุชีวภาพ” (Biological age) ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ช่วยให้บุคคลได้ทราบสภาวะทางสุขภาพของตนเอง เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการกินอยู่

“ยูธ มิเตอร์” (Youth Meter) ชุดตรวจวัดความเยาว์วัยจากฮอร์โมนในหยดปัสสาวะ แสดงผลเป็นตัวเลข “อายุชีวภาพ” (Biological age) ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน คว้าชนะเลิศและได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมบูธแคมป์ 7 วันที่สถาบันเอ็มไอที สหรัฐ


ผศ.รินา ภัทรมานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และทีมนักศึกษาปริญญาเอก-โท ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านชีวเคมีและเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ โดยบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด ธุรกิจรับออกแบบชิพอัจฉริยะสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนา “ยูธ มิเตอร์” ช่วยให้บุคคลได้ทราบสภาวะทางสุขภาพของตนเอง เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการกินอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ

ผศ.รินา กล่าวว่า หลังจากใช้เวลาประมาณ 2 ปีพัฒนา Youth Meter ซึ่งทำหน้าที่เหมือนไบโอเซนเซอร์ ก็ได้จดสิทธิบัตรและขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการอ่านค่าหรือการแปรผลให้ทำงานเร็วขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเชิงพาณิชย์ ทีมงานวางตำแหน่งของไบโอเซนเซอร์นี้ไว้รองรับเทรนด์สุขภาพเชิงป้องกันเพื่อรับมือสังคมสูงวัย ที่หากรู้ข้อมูลอายุชีวภาพก็จะเกิดการปรับพฤติกรรมที่นำไปสู่การป้องกันการเกิดโรคได้ ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจคือ เฮลท์แคร์ คลินิกด้านส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มที่แข็งแรงแต่ต้องการปรึกษาเพื่อสุขภาพและกลุ่มที่ออกกำลังกาย


“ปกติเราไม่ค่อยทราบสภาวะร่างกายที่แท้จริง แล้ววันหนึ่งก็ตรวจพบอาการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (ความดัน เบาหวาน หัวใจ) ช่วงระหว่างก่อนเป็นโรคหรือช่วงที่ไม่ปรากฏสัญญาณโรคใดๆ ก็ไม่ได้ตรวจวัดอะไร จึงน่าจะมีการตรวจวัดในช่วงก่อนเกิดโรคที่ทำได้เองง่ายๆ ในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย”


สำหรับ “อายุชีวภาพ” ยิ่งต่ำยิ่งดี บ่งบอกถึงความแข็งแรงของร่างกายภายใน คนที่สุขภาพแข็งแรงมาก อายุชีวภาพจะอยู่ที่ 20 ต้นๆ ขณะที่อายุตามปฏิทินอาจจะจะอยู่ที่ 40 กว่าๆ แล้วก็ตาม สามารถตรวจได้หลายวิธี โดยทั่วไปจะตรวจจากเลือด รวมถึงอุปกรณ์ตรวจวัดมวลกระดูก ความหนาแน่นของกล้ามเนื้อและปริมาณไขมัน แต่การตรวจจากหยดปัสสาวะนี้ถือเป็นนวัตกรรมระดับโลกที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อ้างอิงจากเวทีประกวดเอ็มไอทีที่ยอมรับในไอเดียของยูธ มิเตอร์


ทั้งนี้ เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา ทีมงานได้เข้าร่วมการแข่งขัน the IDE Competition 2019 For the MIT Enterprise Forum Thailand เป็นการเฟ้นหานวัตกรรมที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจในกลุ่มของ “ดีพ เทคโนโลยี” ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศ 5.7 แสนบาท สำหรับงาน IDE Competition 2019 จัดขึ้นโดยศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (ไอดีอี เซ็นเตอร์) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งการแข่งขัน “เอ็มไอที เอนเทอร์ไพรส์ ฟอรั่ม” เป็นการแข่งขันแผนธุรกิจด้านนวัตกรรม ขับเคลื่อนโดยเครือข่าย Global Entrepreneurship Support Network จากสถาบันเอ็มไอทีรับเทรนด์สุขภาพเชิงป้องกัน

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเวทีเอ็มไอทีให้การยอมรับในยูธ มิเตอร์ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงพยายามผลักดันชิ้นงานนี้ให้เร็วเพราะเทคโนโลยีมาเร็วไปเร็ว แต่อยากฝากสตาร์ทอัพที่ว่าควิกวินแล้วว่า ถ้าจะเล่นกับ “ดีฟเทค” ไม่มีคำว่าเร็ว ยกตัวอย่างที่เราวางเส้นทางการพัฒนายูธ มิเตอร์ 3-5 ปีถือว่าเร็วแล้ว”


สำหรับความแม่นยำของยูธ มิเตอร์ประมาณ 80% ใกล้เคียงกับอุปกรณ์ตรวจวัดกลูโคส ซึ่งคลาดเคลื่อนได้ 15% แต่สำหรับยูธ มิเตอร์จะไม่มีผลต่อการตรวจรักษา ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ แต่มุ่งหวังประโยชน์ใช้สอยเป็นเหมือนอุปกรณ์สวมใส่อย่างนาฬิกาสุขภาพสำหรับ wellness ซึ่งกำลังมาแรงก่อนที่จะไปถึง healthy