ปั้นพลังเครือข่ายSE แก้โจทย์สังคมหนุนธุรกิจ

ปั้นพลังเครือข่ายSE แก้โจทย์สังคมหนุนธุรกิจ

ไม่เฉพาะมีเจตนาดีในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม(SE) จะสำเร็จได้ยังต้องมีระบบนิเวศแข็งแรงบ่มเพาะ ทั้งกลไกกฎหมาย ความรู้และเงินทุน รวมถึงการเข้าถึงตลาด ธุรกิจSEจึงต้องมีตัวกลางสมาคมฯ เป็นสะพานเชื่อมพลังเครือข่ายหล่อเลี้ยงธุรกิจแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดการการจัดตั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการจัดตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในปี2560โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อให้กลไกภาครัฐ ผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคม ที่ตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจดี เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงสังคม ช่วยในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นธุรกิจเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอด ไปพร้อมกับช่วยเหลือสังคมให้น่าอยู่ขึ้น 

เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม และองค์กรกลางมารวมตัวกัน60ราย เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาการจัดตั้งพ.ร.บ.จนปัจจุบันพ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่23พ.ค.2562 ไล่เลี่ยกันกับการรวมกลุ่มกันจัดตั้ง สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand)เริ่มก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะรู้ดีว่าเจตนารมณ์ธุรกิจเพื่อสังคมไม่อาจอยู่รอดได้หากขาดการเชื่อมต่อเครือข่าย ขยายองค์ความรู้ และมีกลไกจากภาครัฐมาขับเคลื่อน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม เล่าถึงที่มาของการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม ในนามสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม โดยรวมกลุ่มองค์ที่มีแนวคิดและวัตถุประสงค์คล้ายกัน เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและสิ่งแวดล้อมในแนวทางยั่งยืน

เขายอมรับว่า การตั้งธุรกิจเพื่อสังคมให้อยู่รอดได้มีความยากลำบากกว่าธุรกิจทั่วไปหลายเท่า เพราะมีต้นทุนสูงกว่าภาคธุรกิจ เพราะต้องแบกรับทั้งต้นทุนปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการเดินหน้าธุรกิจ ฉะนั้นนอกจากแนวคิดที่ดีในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ปลดล็อกปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องมีกลไกเอื้อต่อการทำธุรกิจให้อยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษ ภายใต้พ.ร.บ. ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ในการเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงช่วยลดภาษี

การจัดตั้งสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีส่วนช่วยทำหน้าที่ ข้อกลาง ในการเชื่อมต่อปัจจัยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเงินทุน องค์ความรู้และเครือข่ายพันธมิตรภาคธุรกิจ แสวงหาความร่วมมือระะหว่างสมาชิกองค์กร ตลอดจนสมาชิกกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ แผนการดำเนินการ ตลอดจนถ่ายทอดกลยุทธ์การส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการมีส่วนในการแก้ไขปัญหา พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจหลัก 3 ประการ

ประกอบด้วย สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยง (Connect) ธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกันเองและกับองค์กรอื่น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกสูงสุดต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม สื่อสารและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ (Communicate) โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมให้กับสาธารณชน ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคม (Catalyze) ผ่านการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูล การรวมกลุ่ม และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน แก้ปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการและยั่งยืน

“ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ธุรกิจเพื่อสังคมจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มที่แข็งแกร่งมากพอ” เขากล่าว

สุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม ผู้จัดการทั่วไป สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวเสริมว่า แนวทางการการเชื่อมต่อครบทั้งกระบวนการเช่นนี้ จะเป็นการสร้างพลังเครือข่ายขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDG Goals)17ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ(UN)โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง สามารถรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างต่อเนื่อง

หลังจากมีพ.ร.บ.การส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมกับการจัดตั้งสมาคม จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลัง ทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมอยู่รอด และกระจายตัวไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และช่วยมีโมเดลธุรกิจแก้ไขปัญหาสังคมได้หลากหลายช่องทาง

ปัจจุบันมีภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตร9องค์กรในการดึงองค์ความรู้ และการช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อาทิ ดีแทค มีบริษัทลูกดีแทคในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ช่วยดึงให้สมาชิกเข้าถึงเงินทุนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้ามาช่วยให้องค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงสยามพิวรรธน์ให้พื้นที่ค้าปลีก

“การพัฒนาธุรกิจควบคู่กับสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นเทรนด์ที่องค์กรภาคธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะธุรกิจอยู่รอดไม่ได้ บนปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม"

สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand)ก่อตั้งขึ้นในเดือนม.ค. ปี2562มีองค์กรเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งต้น13องค์กร โดยเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในหลากหลายสาขา อาทิ การเกษตร การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน การศึกษา สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการเปิดรับสมัครสมาชิกให้ได้มากที่สุด โดยคาดว่าจะมีSEในประเทศไทยที่มาสมัครสมาชิกไม่ต่ำกว่า200รายภายใน1-2ปีนี้

โดยเป้าหมายสูงสุดขององค์กรหากมีการรวมพลังเครือข่ายที่เข้มแข็งขยายวงกว้างขึ้น จะเชื่อมต่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม เข้ากับภาครัฐ และองค์กรภาคธุรกิจ ที่สร้างผลกระทบในการแก้โจทย์ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระจายไปทั่วประเทศ

ในการเปิดตัวสมาคมยังได้จัดเสวนา เรื่อง “Connecting the Two Worlds:ก้าวต่อไปของบริษัทเอกชนและธุรกิจเพื่อสังคมสู่ผลกระทบทางสังคมที่ดีกว่าเดิม โดยวิทยากร ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม และพันธมิตรหลักได้กล่าวถึงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมในแง่มุมต่างๆ

กฤษดา แสงไชยวุฒิกุล กรรมการ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า เพราะมีโลกใบเดียว ปัจจุบันปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันรุนแรงและมีความท้าทายอย่างมาก การร่วมมือกันผ่านธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ต่างมีส่วนช่วยโลกของเราได้เท่าๆ กัน

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทด้านการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก กล่าวว่า เพราะข้อมูลด้านการตลาดเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน ภาคธุรกิจจึงต้องพร้อมสนับสนุนให้เกิดขึ้นกับธุรกิจเพื่อสังคม โดยมองข้ามการแข่งขันทางธุรกิจ แต่จะต้องร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน