'ประวิตร' สานฝัน 'พรรคทหาร' ถางทาง 'ประยุทธ์' ผู้นำพรรค?

'ประวิตร' สานฝัน 'พรรคทหาร' ถางทาง 'ประยุทธ์' ผู้นำพรรค?

นัดหมาย 20 ส.ค.62 นี้ ได้ฤกษ์งามยามดีที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเปิดตัวนั่ง "ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ" อย่างเป็นทางการ

ทำให้ถูกจับจ้องว่า เป็นการแปลงร่างพรรคลูกครึ่งทหาร ให้กลายเป็น พรรคทหาร เต็มขั้น-เต็มยศ หรือไม่

ต่างจากก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะถูกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของพรรคนี้

แม้ว่า “ก๊วน 4 รัฐมนตรี” ขณะนั้น ซึ่งประกอบด้วย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สินธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ที่ชิงลาออกจาก ครม. “ประยุทธ์ 1” มาร่วมตั้งพรรค แต่ก็ยังไม่มีใครยอมรับว่า พรรค พปชร.ตั้งไว้เพื่อสืบทอดอำนาจของทหาร

ทุกจังหวะก้าวทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร จึงค่อนข้างระมัดระวัง ไม่ให้ล้ำเส้นกฎหมาย กระทบต่อการเคลื่อนพลของพรรค พปชร. ภายใต้ “พลังดูด” บรรดาบิ๊กสีเขียว จึงแอบอยู่ฉากหลังเท่านั้น ส่วนฉากหน้าปล่อยให้ “4 กุมาร-กลุ่มสามมิตร-เครือข่าย” บริหารจัดการ

ก่อนการเลือกตั้ง บรรยากาศภายใน พปชร.ม่ีภาพความสมัครสมานสามัคคี แต่หลังเสร็จศึกเลือกตั้งทุกก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ต่างหันมาสู้รบกันเอง เพื่อชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ก๊ก-ก๊วน-มุ้งไหน "สายตรงบิ๊กสีเขียว” มักจะการันตีเก้าอี้ ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ที่ห่างเหินมักจะถูกกีดกัน

โดยเฉพาะ “กลุ่มสามมิตร” ที่มักตั้งโต๊ะแถลงต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี จนทำให้ภาพลักษณ์พปชร.ติดลบ ถูกตั้งคำถามจากสังคม และถูก “7 พรรคฝ่ายค้าน” ปั่นกระแสนำไปใช้โจมตีทางการเมือง

การขยับเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ของ พล.อ.ประวิตร ภารกิจเฉพาะหน้านี้ ถูกมองว่าเพื่อกำกับดูแล ก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ภายในพปชร.ให้อยู่ในคาถาของ บิ๊กสีเขียวไม่ให้แข่งกันใหญ่จนไม่มีใครฟังใคร

หากจำแนก ก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ยากจะนับตัวเลขว่า ส.ส.คนไหน อยู่ ก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ไหน เพราะต่างเคลมตัวเลข เพื่อสร้างราคากันจนปั่นหัวกันเอง แถมยังมี ส.ส.รับจ็อบ อยู่ทุกกลุ่มที่มีใต้โต๊ะให้ จึงยากที่จะนับยอดที่ถูกต้องได้

แต่สามารถจำแนกตาม “หัวหน้า” ก๊ก-ก๊วน-มุ้ง ได้ดังนี้ กลุ่มสามมิตร” นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม สมศักดิ์ เทพสุทินรมว.ยุติธรรม ซึ่งกลุ่มสามมิตรมักถูกมองว่า เป็นตัวปัญหามาโดยตลอด และมีการเคลียร์ใจกับ พล.อ.ประวิตร มาหลายครั้งแล้ว

กลุ่ม กทม.” นำโดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรค พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถูกยกเป็น กลุ่มลูกรัก ของ พล.อ.ประวิตร หากย้อนกลับไปช่วงจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการปรับโผให้ณัฏฐพลขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับ 1 และแรงต่อรองภายในพรรคค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่น

กลุ่มเพื่อนผู้กอง นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พยายามรวบรวม ส.ส.ภาคเหนือ ให้เหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นเดียวกัน แม้จะยังมีบางส่วนของไปอยู่กับ “นายเก่า” ที่รู้จักมักคุ้นกันมานาน แต่ ร.อ.ธรรมนัส มี ส.ส.อีสาน บางส่วนอยู่ในสังกัดเช่นกัน รวมถึง 9 พรรคเล็ก ที่คอยช่วยประสานงานและต่อรองตำแหน่งให้ จนอาจจะทำให้ “กลุ่มเพื่อนผู้กอง” มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น

กลุ่ม ส.ส.ภาคกลาง นำโดย เสี่ยเฮ้งสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี เคลมว่ามี ส.ส.อยู่ในสังกัด 16 คน ซึ่ง “เสี่ยเฮ้ง” ทำงานให้กับ พล.อ.ประวิตร มาสักระยะหนึ่ง ผลงานเข้าตาจึงได้รับมอบหมายให้นั่ง ประธานส.ส. และมีโอกาสสูงที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีรอบหน้าเมื่อมีการปรับ ครม.

กลุ่ม ส.ส.อีสานใต้ นำโดย วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล การมาของ พล.อ.ประวิตร อาจจะทำให้วิรัชดีใจกว่าใครเพื่อน เพราะลือกันว่าเคยมีสัญญาใจที่จะช่วยคดีสนามฟุตซอล ซึ่ง ป.ป.ช.เพิ่งมีชี้มูลความผิดทางอาญา ต้องรอลุ้นในชั้นอัยการว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่ จากนี้ไปหากมีอะไรติดขัด ก็อาจจะดีลโดยตรงได้ทันที ไม่ต้องผ่านมือที่สอง-มือที่สาม

กลุ่ม 13 ส.ส.ใต้ นำโดย พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา แม้ไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรี เก้าอี้ข้าราชการการเมือง แต่กลุ่ม 13 ส.ส.ใต้ ขอให้พรรค พปชร.ทุ่มสุดตัวในการสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นภาคใต้ ที่ต้องขับเคี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยิบย่อยภายใต้พรรคพปชร. ที่แตกเซลล์กันออกไป ดังนั้นการมาของ พล.อ.ประวิตร จึงถูกจับตามองว่า จะสร้างสมานรอยร้าวและสร้างเอกภาพได้หรือไม่

 ที่สำคัญ การเข้ามาบริหารจัดการพรรคอย่างเป็นทางของ พล.อ.ประวิตร จะสามารถลบข้อครหา “คนนอกครอบงำพรรค” ไปได้ เพราะหากยังก้ำกึ่งอาจสุ่มเสี่ยง ยิ่งระยะหลังปรากฏภาพ ส.ส. พปชร.เดินเข้าออกมูลนิธิป่ารอยต่อกันอย่างคึกคัก หากไม่รีบเปิดตัว มีโอกาสถูก“ขั้วตรงข้าม” ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาตรวจสอบตามกฎหมาย ซึ่งโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค

ขณะเดียวกัน ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประวิตร เข้ามาเคลียร์ทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคพปชร. เพราะเวลานี้บรรดาแกนนำต่างส่งสัญญาณให้รับรู้กันว่า ใกล้ถึงเวลา “ตัวจริง” จะเข้ามาแล้ว

เดิมที มีกำหนดเวลาที่ พล.อ.ประวิตร จะเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรค ถูกวางไว้ช่วง ก.ค. แต่หลายอย่างยังไม่ลงตัวจึงต้องขยับมาเปิดตัวช่วง ส.ค.แทน ทำให้จังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามา จึงต้องขยับออกไปอีก

แม้เสียงเชียร์ ที่รอต้อนรับผู้นำคนใหม่จะดังกระหึ่มพรรค แต่ก็ยังมีเสียงท้วงติงจาก “คนข้างกาย” คอยเบรกไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพราะมองว่า เร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ ควรรอดูสถานการณ์ไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะหากลงไปเล่นเอง-แสดงเอง หาก พปชร.มีเรื่องพลาด อาจเป็นเงื่อนไขให้ “ขั้วตรงข้าม”หยิบมาทิ่มแทง พล.อ.ประยุทธ์ ได้

 ทั้งนี้ต้องจับตาถึงฝีมือ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังมาถึง จะเป็นการโชว์ศักยภาพครั้งแรกของ พล.อ.ประวิตร 

  แน่นอนว่าหาก พปชร.สามารถยึดหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง ได้มาก ย่อมส่งผลให้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ราบรื่นยิ่งขึ้น แต่หากต้องพ่ายแพ้ให้กับ “ขั้วตรงข้าม” ในจังหวัดสำคัญ และจังหวัดยุทธศาสตร์ มองระยะยาวก็อาจส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่พรรคการเมืองใดๆ ก็ต้องพึ่งพิง “นักการเมืองท้องถิ่น”

จากนี้ไปทุกย่างก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ และพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร จะสานฝันพรรคทหาร ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไปได้ไกลแค่ไหน ต้องลุ้นกันว่า บริบทการเมืองไทยในยุคนี้ จะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ที่พรรคทหารในอดีต ล้วนแล้วแต่อายุสั้นถึงสั้นมากได้หรือไม่