“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”

“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”

113 วันคือช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอดของลูกพะยูนหลงฝูงอายุ 6 เดือน “มาเรียม” หลังจากถูกพบเกยตื้นบริเวณอ่าวทึง จังหวัดกระบี่ช่วงปลายเดือนเมษายน แต่ก่อนที่เธอจะสามารถก้าวข้ามไปสู่วันที่ 114 ของชีวิต มาเรียมเกิดอาการช็อคอย่างรุนแรงและตายลงหลังเที่ยงคืนเพียงไม่กี่นาที

กลายเป็นพะยูนตัวที่ 14, สัตว์สงวนที่หลงเหลือในท้องทะเลไทยเพียงราว 200 ตัว, ที่ตายลงในปีนี้

โดย พลาสติก ถูกระบุโดยทีมสัตวแพทย์ที่รักษามาเรียมว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาเรียมมีอาการแย่ลงจนตายในที่สุด

“เศร้ามากค่ะ ท่ีพบว่าเธอเสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากการช็อค จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ จนทำให้มีก๊าซสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนองตามมา

“ช่วงแรกของการรักษาสามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วนแต่ในทางเดินอาหารท่ีมีขยะพลาสติกนั้นไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อคเสียชีวิตในที่สุด” สัตวแพทย์หญิง รศ. ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ที่ให้คำปรึกษาและการรักษามาเรียมตั้งแต่เร่ิมต้นและทำการผ่าพิสูจน์มาเรียม กล่าวคำอาลัยในเฟสบุ๊คของเธอหลังจากใช้เวลาเกือบค่อนรุ่งในการค้นหาสาเหตุการตายของมาเรียม

นอกจากนี้ ทางทีมสัตวแพทย์ยังพบรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็งเช่นหินขณะท่ีเกยท่ีตื้น 

มาเรียม เป็นลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6-7 เดือนที่ถูกพบเกยตื้นเป็นตัวแรกๆของปีนี้ที่บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกันนำมาเรียมไปอนุบาลในสภาพธรรมชาติในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน และนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการอนุบาลลูกพะยูนในสภาพธรรมชาติ

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าฯ ลิบง เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงแรกของการอนุบาลมาเรียมว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาสาสมัคร ต้องดูแลลูกพะยูนมาเรียมอย่างใกล้ชิดถึงแม้ว่าสุขภาพจะแข็งแรง เนื่องจากยังเล็ก หากปล่อยคืนสู่ทะเลอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งน่าจะเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

โดยในเวลากลางคืนนายชัยพฤกษ์เล่าว่าต้องนำมาเรียมไปไว้บริเวณน้ำลึก เพื่อป้องกันการเกยตื้น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนคอยเฝ้าระวังดูแล ส่วนในช่วงเวลากลางวันยังต้องนำมาเรียมออกมาป้อนนมและหญ้าทะเล ตามเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลจนกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งในเรื่องของการกินหญ้าทะเลและไม่ต้องการนมแล้ว โดยมาเรียมจะต้องเรียนรู้เรื่องการช่วยตัวเองตอนน้ำลง จะได้ไม่เกยตื้น หรือจนกว่าจะโตขึ้นและสามารถเข้ากับพะยูนตัวอื่นในฝูงได้ นั่นคือความหวังของเจ้าหน้าที่

มาเรียมเองมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับโดยในช่วงต้นเดือนกรกฏาคม เธอเริ่มปรับตัวตามสัญชาตญาณสัตว์ป่าได้ โดยสามารถนอนจมในน้ำลึกได้ ไม่เกยตื้นและหันหน้าไปทางทะเลตามน้ำลงได้

แต่ปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบว่ามาเรียมถูกพะยูนตัวผู้ไล่ จึงเกิดข้อสันนิฐฐานว่าทำให้เกิดอาการช็อคและเร่ิมล้มป่วยลง โดยนายจตุพร​ บุรุษพัฒน์​ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง​ ได้เปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้มาเรียมไม่กินนม และกินหญ้าทะเลน้อยลง กระทั่งเมื่อคืนวันที่ 10 สิงหาคม ได้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ทีมสัตวแพทย์ต้องฉีดยากระตุ้นหัวใจ ทำให้ต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายไปยังบ่อพักฟื้นชั่วคราวเมื่อสองสามวันที่แล้ว 

“อาการเบื้องต้นของมาเรียมหลังจากที่ทีมสัตว์แพทย์ได้ทำการเคลื่อนย้ายมาเรียมขึ้นมาอนุบาลบริเวณบ่อพักฟื้นชั่วคราว​ พบว่ายังคงมีภาวะ dehydrated ลอยตัวนิ่ง ค่อนข้างสูง​ แสดงอาการอ่อนแรง ตัวสั่นเหมือนต้องใช้ความพยายามในการขึ้นมาหายใจ สัตว์แพทย์จึงได้สอดท่อให้อาหาร ได้รับอาหาร รวมทั้งวิตามินและโปรไบโอติก และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือด จากนั้น​ มาเรียมเริ่มมีการจมตัว เริ่มว่ายน้ำ กลับมาเป็น neutral buoyancy จมตัวลงไปนอนใต้น้ำได้บ้าง และมีอาการจามหลายครั้งอีกด้วย” นายจตุพร กล่าว

ทาง ทช. กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช​ (อส.)​ จิตอาสา และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง​ ได้หารือถึงแผนสำรองสำหรับมาเรียม รวมถึงการเคลื่อนย้ายเธอไปยังบ่อพยาบาล​ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิวิชัย วิทยาเขตตรัง​ และโรงพยาบาลศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต โดยเฮลิคอปเตอร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือภาคที่ 3 หากทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นว่าจะต้องเคลื่อนย้ายมาเรียมทันที​ 

แต่มาเรียมแพ้ และจบชีวิตลงในที่สุด

มาเรียมได้ทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีที่ช่วยให้มนุษย์ได้มีโอกาสใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนมากยิ่งขึ้น มาเรียมจึงเป็นเหมือนคนในครอบครัว และสมาชิกของชุมชน เป็นความผูกพันระหว่างพะยูนและคนไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”นายจตุพรกล่าว “หวังว่าโชคชะตาที่ไม่อาจกำหนดได้ของดุหยงน้อยมาเรียม จะเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญให้เกิดการจัดการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลอันเป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศที่เหลืออยู่อย่างเข้มแข็งจริงจัง เพื่อให้ชุมชนและสัตว์ทะเลหายากได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทที่ 15 ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น

พะยูนในทะเลตรัง ถูกพบในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (บริเวณแหลมจูโหยและอ่าวทุ่งจีน) มากที่สุด โดยมีไม่ต่ำกว่า 180 ตัว และกระจายไปบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ในท้องที่จังหวัดตรัง

จากการบินสำรวจล่าสุดของเขตห้ามล่าฯ เมื่อต้นปี พ.ศ.2562 พบว่าในทะเลฝั่งอันดามัน ในแหล่งหญ้าทะเลตั้งแต่จังหวัดสตูลไปจนถึงจังหวัดกระบี่ พบพะยูนไม่น้อยกว่า 200 ตัว ซึ่งพบว่ามีพะยูนแม่ลูกอยู่หลายคู่ และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี

“แต่อย่างไรก็ตาม พะยูนยังเป็นสัตว์ที่ต้องมีการอนุรักษ์เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์” นายชัยพฤกษ์กล่าว

ข้อมูลจากกรมรัพยากรทางทะเลฯ ระบุว่าสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นในช่วง 3 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยปีละ 400 ตัว ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน ที่คิดเป็นจำนวน5%

โดยพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 2560 สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น มากที่สุดในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 566 ครั้ง รองลงมาในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 449 ครั้ง 

สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากติดเครื่องมือประมง เป็นอันดับหนึ่งถึง 74% และ 89% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60%

และ ขยะพลาสติก ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ภาพ/ ทช.