มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องแก้กฎหมายคุมบริษัททัวร์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องแก้กฎหมายคุมบริษัททัวร์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำผู้เสียหายทัวร์ “อีแอลซี” ร้องกทท. จัดการทัวร์ผิดกฎหมาย พร้อมเรียกร้องแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเพื่ออุดช่องโหว่ ด้านกทท. ยกกรณี “อีแอลซี” เป็นโมเดลควบคุมบริษัททัวร์อื่น

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 16 ส.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำผู้เสียหายประมาณ 20 คน จากการซื้อทัวร์ต่างประเทศของบริษัทอีแอลซี กรุ๊ป จำกัด เข้าร้องเรียนต่อกรมการท่องเที่ยว (กทท.) เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมาย หลังโดนบริษัททัวร์อีแอลซีฉ้อโกงเงินค่าแพคเกจท่องเที่ยว โดยเรียกเก็บเงินล่วงหน้า 1 ปี แต่ไม่ได้ออกเดินทางตามกำหนด และยังไม่ได้รับเงินคืน จนมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูงถึงหลักพันล้านบาท โดยมีนางวันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกทท. เป็นผู้รับเรื่อง

ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายว่า บริษัททัวร์อีแอลซีมีการปล่อยลอยแพลูกทัวร์ และไม่คืนเงินภายในกำหนด 90 วัน อีกทั้งยังมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากลูกทัวร์ และยังมีอีกหลายประเด็นที่บริษัททัวร์นี้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ทางมูลนิธิฯเห็นว่าหากไม่มีการควบคุมเช่นนี้ อาจทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบกับบริษัททัวร์อื่นในอนาคต ทางมูลนิธิฯ และผู้เสียหาย จึงมีข้อเสนอแนะ 5 ข้อมายังกทท.

1.ขอให้มีมาตรการคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่ซื้อโปรแกรมทัวร์ ต้องได้รับการเยียวยาทันทีในกรณีที่เกิดความเสียหาย ไม่ต้องรอให้มีการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต

2.ขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต ต้องมีรายละเอียดชัดเจน เช่นการจัดโปรแกรมทัวร์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ช่องทางติดต่อของบริษัท และต้องมีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจว่าเป็นไปตามที่ขออนุญาตหรือไม่ รวมถึงการต่อใบอนุญาต ต้องมีการนำข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย

3.ขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์การวางหลักประกัน เนื่องจากวงเงินประกันที่บริษัททัวร์วางไว้กับกทท.ยังน้อยเกินไป อย่างกรณีทัวร์อีแอลซี ความเสียหายเป็นพันล้าน แต่วางเงินประกันแค่ 2 แสน ไม่เพียงพอนำมาเยียวยาผู้เสียหาย

4.ขอให้กทท. มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณะ เช่นข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว การเตือนภัยรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อแพคเกจท่องเที่ยว

5.ขอให้ตัวแทนภาคประชาชน หรือองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบ หรือแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำแบบเดิม

นางเรณู ผู้เสียหายรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตัวเองเป็นลูกค้าใหม่ของทัวร์อีแอลซี ในกลุ่มซื้อทัวร์รวมกันประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม ทั้งให้เติมเงิน หักสลิป เงินค้างชำระ แม้เเต่ในช่วงที่อาจารย์โหน่งเจ้าของทัวร์ถูกจับ ยังมีกลุ่มนอมินีมาขายทัวร์แทน อยากถามว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีใบอนุญาต แต่เหตุใดมาขายทัวร์ได้ กรมการท่องเที่ยวมัวทำอะไรอยู่ ส่วนการตัดสินใจซื้อทัวร์ก่อนหน้านั้นได้ตรวจสอบดีแล้ว แต่ก็ยังโดนโกง จึงอยากฝากให้กรมนำไปเป็นกรณีศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

นางวันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวบอกว่า หลังรับข้อเสนอแนะจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและผู้เสียหาย ทางกรมจะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว โดยจะเปิดประชาพิจารณ์ในเว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากทัวร์อีแอลซี มาเป็นโมเดลควบคุมบริษัททัวร์อื่นด้วย