อิตาเลี่ยน เรอเนสซองซ์ นิทรรศการมัลติมีเดียยุคทองในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยา

อิตาเลี่ยน เรอเนสซองซ์ นิทรรศการมัลติมีเดียยุคทองในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยา

อิตาเลี่ยน เรอเนสซองซ์ เปิดแสดงครั้งแรกในโลกที่กรุงเทพฯ ณ ที่อาร์ซีบี แกลเลอเรีย ชั้น 2 Contemporary Art Space ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เมื่อวันที่ 7สิงหาคมที่ผ่านมา

ช่วงนี้ก็จะชวนชมงานศิลปะอารมณ์วิชาการหน่อยๆ แต่ถ้ารู้ไว้บ้างก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมได้ไม่น้อย อย่างเช่น นิทรรศการมัลติมีเดีย ITALIAN RENAISSANCE ที่จัดขึ้นต่อจาก FROM MONET TO KADINSKY ผลงานการออกแบบและพัฒนาโดย VISION MULTIMEDIA PROJECTS บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์ โปรดักชั่น เช่นเดียวกัน

อิตาเลี่ยน เรอเนสซองซ์ เปิดแสดงครั้งแรกในโลกที่กรุงเทพฯ ณ ที่อาร์ซีบี แกลเลอเรีย ชั้น 2 Contemporary Art Space ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เมื่อวันพุธที่ผ่านมาโดยจัดแสดงให้ชมกันถึงสิ้นเดือนตุลาคม นำเสนอผลงานของศิลปินคนสำคัญแห่งยุค 4 คน ได้แก่ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ราฟาเอล (Raphael) และ บอตติเชลลี (Botticelli)

พวกเขาดำรงชีวิตอยู่เมื่อ 500 ปีที่แล้ว หากผลงานที่สร้างไว้ให้กับโลกยังคงเป็นที่ยกย่อง กล่าวขาน ชื่นชม และสร้างแรงบันดาลใจมาจนถึงทุกวันนี้

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ห้อง Introduction Room บอกเล่าถึงประวัติและผลงานของศิลปิน และห้องจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบมัลติมีเดีย ที่มีการผสมผสานระหว่างกราฟิกแอนิเมชั่น ฉายผ่านวิดีโอโปรเจ็คเตอร์ที่ทันสมัยและให้ภาพคมชัดนับสิบเครื่อง และระบบเซอร์ราวนด์ซาวนด์ ซึ่งในส่วนของห้องจัดแสดงมัลติมีเดียนี้มีด้วยกัน 2 ห้อง ขอแนะนำเหมือนเดิมคือ ชมห้องใหญ่ก่อน แล้วมาซ้ำในห้องเล็กที่สามารถเอนตัวลงบนเบาะขนาดใหญ่แล้วเพลินชมกับภาพและเสียงดนตรีด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย

คราวนี้ก็มาทบทวนเรื่องราวของศิลปะเรอเนสซองซ์กันสักหน่อย ขอพลิกตำราของ วีรวรรณ มณี อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเขียนถึงศิลปะเรอเนสซองซ์ไว้ในหนังสือ จิตกรยุโรปในศตวรรษที่ 19 (สนพ.ไทยวัฒนาพานิช,2528) เอาไว้ว่า

เรอเนสซองซ์เริ่มต้นขึ้นในอิตาลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นระยะที่ศิลปะมีการแสดงออกตรงตามเหตุตามผล และยังมีระเบียบควบคุมอยู่มากเมื่อเทียบกับยุคทอง (คริสต์ศตวรรษที่ 16) ซึ่งเล่นในระดับสูงขึ้นไปอีกในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันทางจิตวิทยาและกายภาพ

จิตรกรรมในยุคนี้มีแนวคิดที่ได้มาจากกรีกโรมันโบราณ นั่นคือ แนวคิดเกี่ยวกับโลกทัศน์ที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีภาคภูมิ มีความเชื่อในสายตาสิ่งแวดล้อมรอบๆตน ในภาพเขียนจะมีการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวคนกับบรรยากาศแวดล้อมชัดเจน ในเรื่องความตื้นลึกของฉากภูมิประเทศซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยวิธีทัศนวิทยา (perspective)ให้สมจริงกับธรรมชาติรอบข้างที่สงบสดใส ตัวคนตั้งใจให้มีความหนา มีน้ำหนัก มีอารมณ์ทุกข์โศกยินดีของมนุษย์ปุถุชน หรือไม่ก็สงบเงียบ ศิลปะในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยเหตุผล

ในหนังสือกล่าวถึง บอตติเชลลี ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคเรอเนสซองซ์ตอนต้นว่าเป็นศิลปินผู้คลี่คลายรูปทรงที่มีความหนา มีน้ำหนัก ให้บางเบาล่องลอยด้วยการใช้เส้นและรูปทรงที่แบบบางละเอียดอ่อน ส่งผลให้งานของเขาคล้ายเป็นความฝันมากกว่าความจริง อ่านมาถึงตรงนี้ภาพ “กำเนิดวีนัส” ของบอตติเชลลี คงให้คำตอบได้เด่นชัด (ในนิทรรศการนี้เราก็จะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวที่สัมผัสได้ถึงอารมณ์ล่องลอยชวนฝันชัดเจน)

ส่วน เลโอนาร์โด ดาวินชี ไมเคิลแองเจโล และ ราฟาเอล เป็นศิลปินที่อยู่ช่วงยุคทองเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะเรอเนสซองซ์พัฒนามาถึงช่วงสูงสุด อาจารย์วีรวรรณ ระบุว่า

“ศิลปินเหล่านี้ยังคงยึดถือคนเป็นสำคัญ แต่มิใช่มุ่งจับอากัปกิริยาภายนอกตามที่ตาเห็นเท่านั้น พวกเขาสามารถแสดงสิ่งซึ่งสูงส่งลึกซึ้ง หรือความตึงเครียดหม่นไหม้ในจิตใจของคนได้แนบเนียนยิ่งกว่าศตวรรษที่ผ่านมา

จะเห็นได้จากผลงานของ เลโอนาร์โด ดาวินชี จัดวางท่วงท่าแขนมือและใบหน้าของคนให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจอันละเมียดละไม แล้วใช้ทิวทัศน์บรรยากาศรอบข้างเข้าช่วย ด้วยแสงและสีที่นุ่มนวล สร้างภาพสตรีผู้มีความฝันอันลึกซึ้งซ่อนเร้นขึ้นมาได้ ดังภาพ โมนาลิซ่า

เมื่อตกมาถึงสมัยนี้ ศิลปินทั้งหลายได้รับมรดกที่ศิลปินรุ่นก่อนได้ค้นคิดกันมาแล้วอย่างดี พวกเขาได้วิธีทำทัศนียภาพกับกายวิภาคที่พัฒนาแล้วจากกลุ่มศิลปินฟลอเรนซ์ อีกทั้งยังได้วิธีการใช้สีน้ำมัน ซึ่งมาช่วยขยายขอบเขตการแสดงออกจาศิลปินทางเวนิส แล้วใช้อัจฉริยภาพส่วนตัวสร้างความก้าวหน้าต่อไปในแนวทางของตน”

ในขณะที่ ดาวินชีใช้ทิวทัศน์เข้าช่วยในการแสดงความรู้สึกของมนุษย์ ไมเคิลแองเจโล กลับใช้ร่างคนแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สร้างบรรยากาศสร้างพลังอันท่วมท้น ด้วยการค้นหาวิถีทางในการแสดงความเป็นอุดมคติ ผ่านงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่สร้างรูปร่างคนให้มีความหนา มีกล้ามเนื้อ มีแสงและเงาจัดขับให้ท่วงท่าไม่ว่าจะเป็นบีดคั้น โศกสลดให้โดดเด่นออกมาอย่างมีพลังสมบูรณ์

ราฟาเอล กลับทำให้ภาพเขียนของตนมีอากาศ มีพื้นที่ ด้วยการจัดทัศนียภาพและวางองค์ประกอบศิลป์ที่ขัดเกลาธรรมชาติให้นุ่มนวล งดงามตามอุดมคติ โดยการจัดองค์ประกอบให้เป็นทรงพีรามิด… คือถ้อยคำสรุปของอาจารย์วีรวรรณที่ช่วยให้เราอยากกลับเข้าไปชมนิทรรศการนี้อีกครั้ง

ศิลปะสร้างแรงบันดาลใจให้เสมอ

หมายเหตุ : นิทรรศการจัดแสดงแล้ววันนี้ - 31ตุลาคม บัตรราคา 350 บาท (เด็ก 4 ขวบขึ้นไป / นักเรียนและนักศึกษาถึงระดับปริญญาตรี / ผู้อาวุโส 60 ปีขึ้นไป ราคา 250 บาท) ซื้อบัตรได้ทางเว็บไซต์ Zip Event บัตร 1 ใบ เข้าชมได้ตลอดทั้งวัน เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 22.00 น.

เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

ภาพ : อนันต์ จันทรสูตร์