เอไอเอสไอเดียเจ๋งทดสอบยูสเคส 5จี

เอไอเอสไอเดียเจ๋งทดสอบยูสเคส 5จี

เอไอเอส ผนึก กระทรวงการอุดมศึกษาฯ-ม.อ.และกสทช. บุกใต้โชว์สาธิตไลฟ์สดครั้งแรก การบังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาค จากกทม.-หาดใหญ่ ผ่าน 5G พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมต้นแบบ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของเอไอเอสที่เป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานทั่วทุกภูมิภาคและทุกเจเนอเรชัน ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็น Digital Life Service Provider เราจึงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่เสมอ นับตั้งแต่การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกมาให้บริการ ทั้งเครือข่าย AIS NEXT G ที่เร็ว แรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เครือข่าย AIS 4.5G และ AIS 4G ADVANCED ที่รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง การันตีด้วยรางวัลเครือข่ายมือถือที่เร็วที่สุดในไทย 4 ปีซ้อนจาก Ookla® Speedtest® ตลอดจนการทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแห่งอนาคต 5G ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยไปอีกขั้น โดยที่ผ่านมา เอไอเอส เป็นผู้นำรายแรกในการเปิดพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และประชาชนได้ร่วมศึกษา ทดลอง ทดสอบการใช้งาน 5G ในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เพื่อบ่มเพาะและสร้างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากรไปด้วยกัน เราจึงประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทดลอง ทดสอบ ศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 28 GHz ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทดสอบ 5G ในภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. โดยดึงจุดเด่นของอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ โอกาส ความสนใจ และบริบททางสังคมของภาคใต้เป็นตัวกำหนด ภายใต้แนวคิด “Smart City, Smart Living” ระบบต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ผ่านการสาธิตการควบคุมรถไร้คนขับ แบบข้ามภูมิภาค จาก จ.กรุงเทพฯ ถึง จ.สงขลา ในรูปแบบไลฟ์บรอดแคสต์ เป็นครั้งแรกของไทย โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมสาธิตระบบการสื่อสารระหว่างรถต่อรถ ผ่าน 5G ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ศึกษาประสิทธิภาพของ 5G ในทุกมิติสำคัญ

สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ เอไอเอสได้ทำการทำสอบ 3 Use Case คือ 1. 5G Remote Control Vehicle(การบังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาค) : การแสดงศักยภาพที่สำคัญของเครือข่าย 5G เช่น ความเร็วในการรับส่งสัญญาณ (Throughput) ความเร็วในการตอบสนอง (Latency) และความเสถียรของระบบ (Stability) ผ่านเทคโนโลยีการบังคับรถยนต์ไร้คนขับทางไกลข้ามภูมิภาคครั้งแรกของไทย ระหว่างกรุงเทพฯ – สงขลา ที่ผู้ควบคุมรถไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวรถ แต่สามารถบังคับรถให้เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามต้องการ ผ่านการสั่งงานระยะไกลแบบเรียลไทม์ บนเครือข่าย 5G ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งต่อผ่านระบบ Video Analytics และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูง ผ่านเครือข่าย 5G กลับมาหาผู้ควบคุมรถได้ทันที จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ ส่วนของสังคม เช่น การสัญจรโดยสาร, การขนส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์

2.นวัตกรรม V2V (การสื่อสารระหว่างรถต่อรถ ผ่าน 5G) : การสาธิตนวัตกรรมการสื่อสารระหว่างรถต่อรถ (Vehicle to Vehicle) ผ่านเครือข่าย 5G ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง มีการตอบสนองที่รวดเร็วและมีความเสถียรของระบบสูง ทำให้รถยนต์ 2 คัน สามารถสื่อสารข้อมูลการขับขี่ ข้อมูลความปลอดภัย และข้อมูลการจราจรไปมาระหว่างกันเองได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในเส้นทาง

3.นวัตกรรม Mobile Surveillance/ Object Detection (รถตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัย) : นวัตกรรมรถตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัย จาก Video Analyticsและ
AI ด้วยการนำข้อมูลวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนยานพาหนะ ส่งผ่านเครือข่าย 5G ไปยังห้องควบคุมกลาง ทำให้สามารถวิเคราะห์ภาพจำแนกวัตถุรอบคันรถ และตรวจจับลักษณะของรถ เช่น ป้ายทะเบียน, รุ่นของรถ, ยี่ห้อ, สีและลักษณะของรถ และการแจ้งเตือนความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ โดยหากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแจ้งข้อมูลรถต้องสงสัยเข้ามาในพื้นที่ ระบบก็จะสามารถแกะรอยและแจ้งเตือนทันทีที่รถคันดังกล่าวขับเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ