มทร.อีสาน เร่งผลิตบัณฑิตป้อน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

มทร.อีสาน เร่งผลิตบัณฑิตป้อน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

มทร.อีสาน เดินหน้าจัดการศึกษาตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เร่งผลิตบัณฑิตป้อน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน มีภารกิจด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 8 ในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มทร.อีสาน สนับสนุนและจัดสรรงบประมาณให้มีการวิจัยให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และการส่งเสริมด้านการคิดค้นและผลิตนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและยังเป็นการมุ่งให้นักศึกษาและคณาจารย์ผลิตผลงานเชิงวิชาการด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย รวมถึงการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านระบบราง อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตร การแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ เป็นต้น

“ทุกข้อที่กล่าวมานี้ เรามีการบรรจุให้เป็นหลักสูตรมีการเรียนจัดการเรียนการสอนและมีแนวโน้มที่ดีในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เรียน และสามารถบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ได้ เมื่อเข้าสู่สถานประกอบการก็สามารถทำงานได้ทันที มทร.อีสาน มีศูนย์กลางอยู่ที่นครราชสีมา และยังมีวิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตสกลนคร วิทยาเขตสุรินทร์ และวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน และในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี 2561 เรามีบัณฑิตที่จบการศึกษามากกว่า 5,000 คน จากบัณฑิตทั้งหมดนี้ พบว่า 95 เปอร์เซ็นต์ มีงานทำหมดแล้ว และอีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในโอกาสนี้เราจึงขอยกย่องบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 6 ท่าน ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีผลงานเชิงประจักษ์และสมควรเป็นแบบอย่างให้กับ บัณฑิต มทร.อีสาน และมีการรับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 20 สิงหาคม 2562”

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า บัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ มทร.อีสาน ในปีนี้มีหลากหลายสาขา เริ่มจากนายธีรยุทธ ฉายสว่างวงศ์ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเครื่องกล) ท่านคือผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล การพัฒนาเครื่องจักรต้นกำลัง การถ่ายโอนความร้อนและของไหลในกระบวนการผลิตและการแปรรูป ผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มมากกว่า 40 ปี ท่านได้พัฒนากลุ่มบริษัท ดัชมิลล์ให้เป็นผู้นำของวงการผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษา มทร.อีสาน หลายคน นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้แก่สถาบันการแพทย์ ได้แก่ สถาบันการแพทย์ สยามมินทราธิราช โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โครงการผ่าตัดนอกเวลาผู้ป่วยโรคหัวใจแก่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

 

ออกญา ดร.ตรี เภียบ ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) ปัจจุบันท่านเป็นประธานบริหารบริษัท ตรี เภียบ กรุ๊ป จำกัด และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ท่านได้ให้ความช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ เช่น การบริจาคเงินแก่โรงพยาบาล และสถานศึกษา ส่งเสริม พัฒนาและอำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งทางการค้าระหว่างอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ในด้านการศึกษาท่านได้ให้การสนับสนุนและลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท ตรี เภียบและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการให้ความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย การฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติ ตลอดจนการสนับสนุนทุนการศึกษา โดยได้ทูลเกล้าถวายเงินแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นทุนพระราชทานให้กับนักศึกษากัมพูชาที่ศึกษาใน มทร.อีสาน

นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ปริญญาการแพทย์แผนไทยดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การแพทย์แผนไทย) ท่านเป็นนายแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มากกว่า 20 ปี และเป็นผู้ริเริ่มการรวบรวมตำรับ ตำรายา ใบลาน ที่ถูกบันทึกภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับงานแพทย์แผนไทยรายการยาสมุนไพร 45 รายการและตำราแปลใบลานจำนวน 3 เล่ม นอกจากนี้ นพ.ปรเมษฐ์ ยังริเริ่มโครงการนวดแบบแพทย์แผนไทยเพื่อสุขภาพในจังหวัดสกลนคร และการจัดทำหลักสูตรสมุนไพรในโรงเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาในรูปแบบ e-book และการร่วมพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาเภสัชกรรมไทย หลักสูตรระดับมหาบัณฑิต ด้านเวชกรรมไทย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ตลอดจนให้การสนับสนุนและผลักดันการจัดตั้งโรงพยาบาลหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท เป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสาขาแพทย์แผนไทย ของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร รวมถึงการร่วมพัฒนาพื้นที่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

 

นายประมวล พัฒน์ทอง ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงในการบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมโยธา การออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ การสร้างสะพานท่าเทียบเรือ เขื่อนแนวกันคลื่น รวมไปจนถึงการบริหารจัดการ การออกข้อกำหนดเขตจัดการงานโยธาและก่อสร้างในเขตเทศบาลเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่มีผลกระทบต่อระบบการจราจร ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตเทศบาล และความสำเร็จในการประกอบอาชีพ จากประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติมาในตำแหน่งนักบริหารของทั้งส่วนราชการและภาคเอกชนด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีความสามารถสูงทางด้านบริหารจัดการ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การใช้ความรู้ความสามารถ จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา มทร.อีสาน

นายองอาจ กล้าพิมาย ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร) ท่านเป็นผู้นำชุมชนและเป็นปราชญ์ชาวนา ผู้น้อมนำปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงในการพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องเก็บข้าวที่ตากเพื่อลดความชื้น ช่วยลดการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ข้าวในระหว่างการตาก และพัฒนาโรงเรือนเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้รักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพที่ดี และได้มีการนำนวัตกรรม เครื่องเก็บข้าวที่ตากเพื่อลดความชื้น ไปใช้งานในหลายพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นผู้พัฒนาการปลูกพืชหลังนา โดยการปลูกแตงโมไร้สารด้วยวิธีการคลุมพลาสติกและระบบน้ำหยดตามศาสตร์ของพระราชา รวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สัตวศาสตร์) ท่านคือผู้มีประสบการณ์ ความรอบรู้และเชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงช้าง การบริหารและการจัดการช้าง เพาะขยายพันธุ์ เลี้ยงดู และอนุรักษ์ช้าง จากการศึกษาด้วยตนเอง และจากหมอช้างผู้มีประสบการณ์ตามวิถีชาวบ้านตลอดระยะเวลากว่า 40ปี ร่วมกับการศึกษาหาความรู้จากการศึกษาดูงานการเลี้ยงและขยายพันธุ์ช้างในท้องถิ่น ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และศึกษาดูงานการเลี้ยงช้างของต่างประเทศ จนมีความรู้แตกฉานด้านการเลี้ยงช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกสายพันธุ์ช้างที่ดี ซึ่งสังเกตจากลักษณะต่างๆ เช่น ความสมบูรณ์ของสรีระร่างกาย ลักษณะข้อดีข้อด้อยของคชลักษณ์และศึกษาด้านประเพณีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับคชศาสตร์ คชลักษณ์ และคชกรรม (พิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับช้าง) จนได้รับการขนานนามเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ อีกทั้งท่านได้เสียสละเวลาร่วมร่างหลักสูตร พัฒนาหลักสูตรและเป็นอาจารย์พิเศษในรายวิชา การอนุรักษ์และการจัดการช้าง ของสาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ท่านทุ่มเทในการศึกษาด้านการจัดการและอนุรักษ์ช้างไทย พัฒนาความรู้ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านสู่การจัดสอนในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสร้างคุณประโยชน์แก่สถาบันการศึกษา และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศครับ ซึ่งทุกท่านถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบัณฑิต มทร.อีสาน ขอให้ยึดถือบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทุกท่านเป็นแบบอย่างการทำงานและการดำเนินชีวิตครับ ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย