ครม.เศรษฐกิจเคาะวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้าน

ครม.เศรษฐกิจเคาะวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้าน

ครม.เศรษฐกิจเคาะวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้าน อัดฉีดเศรษฐกิจ 3 ส่วน หวังพยุงจีดีพีโตได้ 3% ให้เงินผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม 1,000 บาท คนแก่เพิ่ม 1,000 บาท ดูแลเด็ก 600 บาท โดยได้รับในเดือน ส.ค.-ก.ย.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.) เศรษฐกิจ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3 %วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ส.ค.ต่อไป


ทั้งนี้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้แบ่งเป็นเงินงบประมาณวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินงบประมาณที่จะเสนอขอรัฐบาลใหม่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท วงเงินที่เบิกจ่ายจากกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะเพิ่มเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2 แสนล้านบาทเป็นวงเงินจากธนาคารของรัฐ และเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่จะช่วยเหลือในส่วนของดอกเบี้ย และการพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน


สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบไปด้วย 1.การช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน โดยจะได้รับเงินเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือนในเดือน ส.ค.-ก.ย. รวมเป็น 1,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ เงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ที่ที่ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 600 บาท


2.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนไม่เกิน 10 ล้านคน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดขณะที่กระทรวงท่องเที่ยวเสนอให้มีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย โดยจะเสนอให้ ครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป


3.มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยที่ประชุมฯเห็นชอบให้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉินจากธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของธ.ก.ส. และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 3 ล้านคน


ส่วนมาตรการอื่นๆยังมีมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กและกลาง ทั้งการช่วยเหลือผ่านกองทุนของรัฐบาล จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท การช่วยพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง