เฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มงวด

เฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มงวด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมเชื้อมาลาเรียอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหนาวและเหงื่อออก ขอให้รีบพบแพทย์ทันที่ พร้อมทั้งแจ้งประวัติการไปพื้นที

วันนี้ (16 สิงหาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศในเขตที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพโดยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอาการแทรกซ้อนจากโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปีงบประมาณ 2562  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 15 สิงหาคม 2562  พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย 5,130 ราย (เป็นคนไทย 3,665 ราย คิดเป็นร้อยละ 71)  เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน (ปี 2561 พบผู้ป่วย 6,847 ราย) พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 25 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตาก ยะลา และกาญจนบุรี ส่วนชนิดของเชื้อที่พบส่วนใหญ่ คือ เชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ ร้อยละ 82 ส่วนเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม พบเพียงร้อยละ 14

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งส่วนใหญ่พบตามชายแดน ป่าเขา หากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหนาวและเหงื่อออก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือมาปรึกษาแพทย์ได้ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยว สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการไปพื้นที่เสี่ยง หรือเข้าไปในพื้นที่ป่าเขาให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเองจากยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง เป็นต้น

กรมควบคุมโรคได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโดยใช้เทคโนโลยีการรายงานผู้ป่วยผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์ เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 2.การใช้มาตรการ 1-3-7 คือ รายงาน ติดตามสอบสวนการป่วย และดำเนินการควบคุมกำจัดการแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันยุงพาหะสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรีย  4. การแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียระหว่างประเทศ  5.การเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย      

ทั้งนี้ ขอให้โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้มาลาเรีย  อาทิเช่น โรงพยาบาลนึกถึงโรคนี้เมื่อมีผู้มารับบริการหรือประชาชนให้ประวัติไปในพื้นที่ที่มีระบาด นอกจากนี้ ถ้าพบผู้ป่วยให้รีบรายงานมาที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ให้ร่วมดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422