สัญญาณเสี่ยงศก.ถดถอย? ..เมื่อบอนด์ยิลด์ไทย'กลับหัว'

สัญญาณเสี่ยงศก.ถดถอย? ..เมื่อบอนด์ยิลด์ไทย'กลับหัว'

ตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่ร่วงลงไปกว่า 3% หรือประมาณ 800 จุด เมื่อวันก่อนหน้า และฉุดให้ดัชนีตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกดิ่งลง “รุนแรง” ตามไปด้วย เกิดจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับ “ภาวะถดถอย”

หลังเส้นผลตอบแทนพันธบัตร(yield curve)ของรัฐบาลสหรัฐ เกิดภาวะ “กลับหัว” หรือที่เรียกว่า “Inverted yield curve”

โดยผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) ของสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.623% ในช่วงระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับ “ต่ำกว่า” บอนด์ยิลด์รุ่นอายุ 2 ปี ที่อยู่ระดับ 1.630% ขณะเดียวกัน บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 30 ปีของสหรัฐก็ปรับลดลงมาใกล้ๆ ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์

เส้นผลตอบแทนที่ “กลับทิศ” เกิดจากนักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐในระยะข้างหน้าจะ “ชะลอลง” ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ส่งผลให้นักลงทุนเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาวเพื่อ “ล็อกผลตอบแทน” เพราะถ้าถือบอนด์สั้น เวลาที่ครบกำหนดชำระแล้วต้องซื้อใหม่จะได้ผลตอบแทนที่ลดลงตามดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาลง

เมื่อมีแรงซื้อเข้ามาที่บอนด์ระยะยาวจำนวนมากๆ จึงทำให้บอนด์ยิลด์ลดต่ำลงจนเกิดภาพการกลับหัว คือ บอนด์ยิลด์รุ่นระยะยาว “น้อยกว่า” บอนด์ยิลด์รุ่นระยะสั้น

ภาพ Inverted yield curve ที่เกิดขึ้นกับบอนด์ยิลด์สหรัฐในรอบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และส่วนใหญ่มักเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา โดยครั้งล่าสุดที่เกิดกับสหรัฐ คือ เมื่อปี 2548 หลังจากนั้นอีก 2 ปีก็เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ การเกิดภาวะ Inverted yield curve ในครั้งนี้ จึงทำให้นักลงทุนกังวลว่า สหรัฐอาจกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า

ความจริงแล้วไม่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่เผชิญภาวะ Inverted yield curve เพราะ “ตลาดบอนด์ไทย” ก็กำลังเผชิญกับภาวะที่ว่านี้ด้วย โดยถ้าดูพันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป พบว่า มีหลายรุ่นที่ให้ผลตอบแทน “ต่ำกว่า” บอนด์ระยะสั้น

ข้อมูลค่าสุด ณ วันที่ 15 ส.ค.2562 บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 1 เดือนผลตอบแทนอยู่ที่ 1.48% ,รุ่น 3 เดือน อยู่ที่ 1.47% ,รุ่น 6 เดือน อยู่ที่ 1.47% ,รุ่น 1 ปี อยู่ที่ 1.46% ,รุ่น 2 ปี อยู่ที่ 1.40% ส่วนบอนด์ยิลด์ ,รุ่น 3 ปี อยู่ที่ 1.39% , รุ่น 5 ปีอยู่ที่ 1.39% ,รุ่น 8 ปี อยู่ที่ 1.42% และ รุ่น 10 ปี อยู่ที่ 1.48% ขณะที่รุ่น อายุ 30 ปี อยู่ที่ 1.91%

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า บอนด์ยิลด์ระยะยาวของไทยที่ลดลงจนเกิดภาวะInverted Yield Curve กำลังสะท้อนว่า นักลงทุนมองเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอลง ทำให้ กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบาย จึงเลือกที่จะหันไปถือบอนด์ระยะยาวกันมากขึ้น

“คนหันมาลงทุนตัวยาวมากขึ้น เพราะคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลง ซึ่งถ้าดอกเบี้ยนโยบายลดลง คนที่ถือบอนด์สั้นเมื่อครบกำหนด แล้วจะลงทุนเพิ่มก็จะได้ผลตอบแทนลดลง จึงหันมาถือตัวยาวเพิ่ม แต่พอมีคนคิดแบบนี้มากๆ ก็ทำให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวลดลงแรง”

ส่วนจะถึงขั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่คงต้องติดตามดูข้อมูลเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ล่าสุด บล.ภัทร ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือเติบโต 2.8% จากเดิม 3.3% เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ การส่งออกที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด โดย บล.ภัทร ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นหดตัว 2.5% จากเดิมเติบโต 1.5% ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากแนวโน้มสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น โดยที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อครัวเรือน ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ล่าสุดยอดขายบ้านและรถยนต์ที่ชะลอลง กดดันให้สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตชะลอตามไปด้วย

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภัยแล้ง ที่กดดันการบริโภคภาคเกษตร ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยกว่าระดับปกติมาก แม้ระยะข้างหน้าฝนอาจตกลงมาเพิ่ม แต่ดูแล้วปริมาณน้ำอาจมีผลต่อภาคเกษตรในช่วงต้นปีหน้าได้เช่นกัน

สุดท้ายคือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง จากการส่งออก ทำให้การจ้างงานมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า สถานการณ์ Inverted Yield Curve ที่เกิดกับตลาดตราสารหนี้(บอนด์)ไทย มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.คนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยจะชะลอลง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงได้อีก

2.บอนด์ยิลด์ระยะยาวสหรัฐปรับลดลง ส่งผลต่อบอนด์ยิลด์ของไทย

3.แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) และดีลเลอร์ของธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นการเร่งลงทุนก่อนจะโดนเรียกเก็บภาษี 15% ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

"คนที่เข้าซื้อบอนด์ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.นี้ จะต้องเริ่มเสียภาษี 15% ทำให้ทั้ง บลจ. และดีลเลอร์ เข้ามาตุนสินค้ากันไว้ก่อน มีส่วนทำให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวปรับตัวลง ดังนั้นภาพการเกิด Inverted Yield Curve ของตลาดบอนด์ไทยจึงมาจากหลายปัจจัย"

นายนริศ กล่าวด้วยว่า ในอดีตสถานการณ์ Inverted Yield Curve ในตลาดบอนด์ไทยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่อาจบ่งชี้ถึงสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าได้ เหมือนกับตลาดบอนด์สหรัฐ เนื่องจาก เนื่องจากตลาดบอนด์ไทยเพิ่งมีมูลค่าการซื้อขายที่แอ็คทีฟเมื่อราวๆ ปี 2544 หรือมีอายุ 10 กว่าปีเท่านั้น ต่างจากตลาดบอนด์สหรัฐที่แอ็คทีฟมาตั้งแต่ปี 2513

"ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2554 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ชะลอมาก แต่ กนง. ขึ้นรีโปตัวสั้นเร็ว ตัวยาววิ่งตามไม่ทัน ทำให้ส่วนต่างตัวสั้นกับตัวยาวมีไม่มาก เกิดภาพ Inverted Yield Curve แต่ก็ไม่ได้มีภาวะถดถอยตามมา ยกเว้นตอนปี 2549 ที่ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดีจริงๆ"

อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์จากภาพรวมเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากภาวะถดถอย เพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัวลง จึงมองว่ามีโอกาสเช่นกันที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะถดถอย เพียงแต่ไม่โอกาสในการเกิดไม่ได้สูงมากนัก