แนะกินให้ปลอดภัย แบ่งชิ้นเล็ก พอดีคำ

แนะกินให้ปลอดภัย แบ่งชิ้นเล็ก พอดีคำ

กรมอนามัย เตือนกินอาหารไม่ระวังเสี่ยงติดคอ แนะกินให้ปลอดภัย แบ่งชิ้นเล็ก พอดีคำ

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีชายวัย 52 ปี กินขนมเทียนแล้วเกิดอาการติดคอ ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการไม่เคี้ยวให้ละเอียดก่อน จึงเกิดการติดคอและปิดกั้นหลอดลมจนขาดอากาศหายใจได้ เพราะขนมเทียนจะมีลักษณะนิ่มแต่เหนียว อาจทำให้ประสบปัญหาในการกลืนอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงวัยซึ่งจะมีอาการปากแห้ง การสร้างน้ำลายน้อยลง การที่ไม่มีฟันและกำลังของการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารเพิ่มนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร รวมทั้งคอหอย   ปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารมากขึ้นเช่นกัน และด้านการหายใจผู้สูงอายุต้องหยุดหายใจขณะกลืนจะเกิดขึ้นเร็วและนานขึ้น โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้าทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที ผู้สูงอายุจึงมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากกลืนอาหาร  ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสำลักได้ง่าย

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้สูงอายุรวมถึงเด็กเล็กจึงต้องได้รับการเอาใจใส่เรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษเพื่อให้ปลอดภัย  โดยลูกหลาน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ 1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที  2) กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด 3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที  4) อาหารที่กินควรแบ่งเป็นขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป 5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน 6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย  7) ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว และ 8) อย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น

“ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดอาหารติดคอให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ พูดไม่ออก ให้รีบปฐมพยาบาลโดยจับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น และเปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และ อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6 – 10 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กให้ใช้วิธีตบระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง สลับกับกดหน้าอก และคอยตรวจเช็คช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมให้ใช้นิ้วเกี่ยวออกมา และหากผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัว พูดได้และหายใจได้ตามปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด