บัตรทองต้องอยู่และไม่มี 'ร่วมจ่าย'

บัตรทองต้องอยู่และไม่มี 'ร่วมจ่าย'

สปสช.ยันบัตรทองต้องอยู่และไม่มี "ร่วมจ่าย"

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ซึ่งมีผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อนุกรรมการฯ และคณะกรรมทำงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน เพื่อรวบรวมข้อเสนอนำไปปรับปรุงหลักประกันสุขภาพ

โดยได้กำหนดประเด็นรับฟังความ 7 ด้าน ตามข้อบังคับ ได้แก่ 1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. การบริหารจัดการสำนักงาน 4. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ รวมถึงประเด็นเฉพาะการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อเพิ่มความเข้าถึงบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นส่วนสำคัญในการส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และคุณภาพการบริการ ทั้ง 3 กองทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยไม่เกิดภาวะการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ มีความเท่าเทียมในการรับบริการและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

“หากมนุษย์มีความแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี จะมีพลังที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศ เพราะ สาธารณสุข คือ ฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจ นโยบายหลักที่มอบให้หน่วยงานสังกัดสาธารณสุข คือ“บริการให้เยี่ยม” ต้องใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด เน้นซื้อของที่ผลิตในไทย งบประมาณปีละ 3 แสนล้านบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทยได้ ต้องใช้ให้เป็น จ่ายให้เป็น รับให้เป็น แล้วจะอยู่ได้” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันที่จะสานต่อการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทย และจะได้รับสิทธิที่มากยิ่งขึ้น ทั้งการบริการ การรักษา และการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อคุ้มครองความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน เมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดีแล้ว จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งโดยระบบนี้จะต้องอยู่ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกัน โดยการดำเนินงานจะพุ่งเป้าไปที่การลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ คุณภาพบริการ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนและไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ”

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ สปสช.จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตคือการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเท่าเทียมกัน และจะสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ระบบบริการระบบส่งต่อการแพทย์ที่แม่นยำ ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ประโยชน์ของ Big Data ในการจัดการระบบสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นายอนุทิน กล่าวว่าจะผลักดันระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้ประชาชนรับบริการที่ดีสุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการให้ประชาชนร่วมจ่าย ขอย้ำว่าไม่มีนโยบาย ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เลย ไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน ในทางกลับกันจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากด้วย