นีลเส็นเผยรายงาน 90% ผู้บริโภคไม่ภักดีแบรนด์

 นีลเส็นเผยรายงาน 90% ผู้บริโภคไม่ภักดีแบรนด์

ผลจากรายงานล่าสุดของนีลเส็นในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเผยถึงระดับของความ ‘ไม่’ จงรักภักดีต่อแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเพียง 8% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้ที่ภักดีต่อแบรนด์โปรดของพวกเขา

การศึกษาความภักดีของผู้บริโภคทั่วโลกของนีลเส็นแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความกระตืนรือร้นในการมองหาแบรนด์ใหม่ เนื่องจากการวางเดิมพันในการทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นถูกมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก จากระดับของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ 42% ของผู้บริโภคทั่วโลกบอกว่าพวกเขาชอบลองของใหม่และเกือบครึ่ง (49%) ของผู้บริโภคกล่าวว่าถึงแม้ปกติจะซื้อสินค้าที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ก็มีโอกาสเปิดใจที่จะลองของใหม่ได้

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกมีความนิยมในการเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุดโดย 47% ยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์หรือลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามด้วยแอฟริกาและตะวันออกกลาง (45%) และละตินอเมริกา (42%) แต่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือและยุโรปนั้นมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเปลี่ยนแบรนด์ (36% และ 33% ตามลำดับ) ทั้งนี้แนวโน้มของประเทศไทยได้ตอกย้ำเทรนด์ของเอเชียแปซิฟิก ที่ซึ่ง 46% ของผู้บริโภคไทยเปิดรับสิ่งใหม่และมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่

การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กระตือรือร้นที่จะเปิดกว้างและเปิดรับสิ่งใหม่ๆมากขึ้นเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับเจ้าของแบรนด์ถึงความเสี่ยงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา” กล่าว สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตและการเปิดรับของผู้บริโภคต่อตลาดอีคอมเมิร์ซที่มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มตัวเลือกของสินค้าให้กับผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสในการรับรู้ข้อมูลสินค้าและตรวจสอบราคา อย่างไรก็ตามยังมีสาเหตุที่มากกว่านั้น “การขยายตัวของสังคมเมืองในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และจะมีอัตราการเติบโตที่เร่งขึ้นอีกใน 5-10 ปีข้างหน้าจากโครงการเมกะโปรเจ็คหลายโครงการของรัฐ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเห็นได้ว่าเทรนด์ของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการซื้อของหรือสั่งของนั้นมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเข้าถึงของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทำให้มีความต้องการความชัดเจนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ผู้บริโภคได้รับตัวเลือกที่มากขึ้นนั้นทำให้ทั้งนักการตลาดและผู้ค้าปลีกต่างก็จำเป็นต้องมีความคล่องตัวเพียงพอที่จะเคลื่อนตัว ปรับตัวได้เร็ว ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและเป็นผู้นำเทรนด์ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในอนาคต”

เมื่อพูดถึงปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคชาวไทย ความคุ้มค่าของเงิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยกว่า 52% เห็นพ้องตรงกันว่ามีผลต่อการตัดสินใจของพวกเขาต่อการลองแบรนด์ใหม่หรือเปลี่ยนจากแบรนด์โปรด ตามมาด้วยคุณภาพหรือฟังค์ชั่นการใช้งานที่เหนือกว่า (43%) ทั้งสองปัจจัยนี้ยังได้รับการจัดอันดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในภูมิภาคที่มีอัตราอยู่ที่ 40% ในเรื่องความคุ้มค่าของเงิน และ 42% สำหรับคุณภาพที่เหนือกว่า

นอกเหนือจากสองปัจจัยข้างต้น เรื่องของราคา ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และความสะดวกสบายก็ยังเป็นปัจจัยโดดเด่นที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของคนไทย (43% 43% และ 42% ตามลำดับ)

สมวลีชี้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเจ้าของแบรนด์ไม่เริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ ในการสร้างแคมเปญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนหรือรักษาลูกค้าที่ภักดีเอาไว้ “ผลกระทบที่ลากยาวจากการที่ผู้บริโภคต้องการตัวเลือกมากขึ้น และมีสิทธิ์ในการเลือกมากขึ้น จะทำให้ตลาดต้องทำการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆเพื่อเข้าสู่การแข่งขันหากแบรนด์ต่างๆไม่เริ่มจริงจังในการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดี”

โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดย 50% ของผู้บริโภคทั่วโลกกล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้ว ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก และยุโรปตะวันตก เพียงหนึ่งในสามของผู้บริโภคชอบที่จะลองของใหม่ เนื่องจากสภาพตลาดที่สร้างโอกาสที่จะถูกดึงความสนใจจากสินค้าเดิมนั้นเกิดขึ้นมาซักพักหนึ่งแล้ว จากการที่แพลตฟอร์มการขายสินค้าทั้งออนไลน์และร้านค้าเกิดขึ้นและเติบโตด้วยกันมาเป็นระยะเวลานานแล้ว รวมถึงมีการนำเสนอชั้นวางสินค้าที่มีการสต็อคสินค้าอย่างดี และมีตัวเลือกสินค้าและราคาที่หลากหลาย

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริโภคจำนวนเกือบครึ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (50%) ละตินอเมริกา (49%)  แอฟริกาและตะวันออกกลาง (42%) ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการตัดสินใจในการเปลี่ยนแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีต การแบ่งประเภทสินค้าในตลาดเหล่านี้ในหลายประเทศยังไม่เป็นระบบและมีตัวเลือกเพียงสองถึงสามตัวเลือกบนชั้นวางสินค้าต่อหนึ่งประเภทสินค้า ผู้บริโภคจึงมองหาโอกาสในการลองสิ่งใหม่ ทั้งนี้ 41% ของผู้บริโภคชาวไทยยอมรับว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่มากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าหนึ่งในสี่ (27%) เห็นด้วยว่าพวกเขาทบทวนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มตัวเลือกที่กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เราเรียกกลุ่มนี้ว่า“ผู้ซื้อที่พิจารณา” และพวกเขามีความสำคัญเพราะแม้ว่าพวกเขาจะเลือกสินค้าอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าที่เคย แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้บอกว่าพวกเขาชอบที่จะอยู่กับสิ่งที่เคยลองมาในอดีตมากกว่า ซึ่งเจ้าของแบรนด์ต้องใช้เวลามากขึ้นในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเหล่านี้เปลี่ยนใจ แต่พวกเขายังคงส่งสัญญาณของความไม่ภักดีต่อแบรนด์สินค้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนตลอดเวลา