‘เอบีม’ แนะทางลัดความสำเร็จ ยุค ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’

‘เอบีม’ แนะทางลัดความสำเร็จ  ยุค ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’

การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เป็นเพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานบริหารด้านกลยุทธ์​ การเป็นผู้นำ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และโดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

การศึกษาข้อมูลเชิงลึก (Insight Study) เกี่ยวกับการเติบโตของ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ในประเทศไทย โดยบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เผยว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 2

โดยเป็นมิติของการนำเทคโนโลยีมาใช้เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น(SAAS) ผสมผสานข้อมูลไซโล(Silo) และมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบคาดการณ์

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจที่ตื่นตัวส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่มิติด้านการบริหารจัดการ ทั้งด้านกลยุทธ์ องค์กร บุคลากร และกระบวนการทำงาน ยังคงอยู่ในระยะแรกซึ่งเป็นช่วงของการเริ่มต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นต้องให้ความสำคัญใน 5 มิติประกอบด้วย กลยุทธ์ องค์กร เทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการ เพื่อปรับทุกมิติให้มีความคล่องตัวในการทำงาน สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก พร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

แนะกลยุทธ์ต้องชัดก่อนลุย

เขาแนะว่า องค์ประกอบสำคัญ 7 ด้าน ที่องค์กรธุรกิจต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดทิศทาง 2.มีวัฒนธรรมองค์กรและความตระหนักรู้ โดยที่ทุกหน่วยงานพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ 3.มีกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ทั้งในส่วนไอทีและธุรกิจ

ขณะที่ 4.มีการปฏิรูปการวิเคราะห์และกระบวนการต่างๆ ด้วยการออกแบบนวัตกรรมกับเทคโนโลยีดิจิทัล 5.มีการปฏิบัติการทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านไอที ตามพื้นฐานของกลยุทธ์ทางดิจิทัลที่วางไว้

ข้อ 6.มีการปฏิรูปองค์กรด้วยการเร่งให้เกิดความคิดใหม่ๆ และทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย และ 7.มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล พร้อมให้ความรู้ใหม่ๆ ที่มาจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

“การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เป็นเพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานบริหารด้านกลยุทธ์​ การเป็นผู้นำ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และโดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด”

ทุกวันนี้โลกดิจิทัลหมุนไปข้างหน้าเร็วกว่าเดิม คู่แข่งมาจากทุกที่ วงจรธุรกิจและผลิตภัณฑ์สั้นลง หากก้าวพลาดมีโอกาสแพ้ในสงครามการแข่งขันได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มขยับตัว จำเป็นต้องก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาด โดยมีโจทย์ที่เป็นกุญแจสำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถคว้าโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ทั้งในมุมของลูกค้าและการดำเนินธุรกิจบนความท้าทายของคลื่นดิจิทัล 

เขย่าโครงสร้างโฟกัสตลาดชัดเจน

สำหรับเอบีม แนวทางธุรกิจจะสอดคล้องไปกับความต้องการดังกล่าว ล่าสุดยังได้มีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดประเทศไทย โดยเพิ่มบริการใหม่ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทุนบุคลากร (HCM) ภายหลังจากการรับโอนธุรกิจจาก บริษัท อิเมอร์ริทิส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเสริม

นอกจากนี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายในให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าองค์กรธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากการแบ่งฝ่ายตามบริการที่ปรึกษาประเภทต่างๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมของธุรกิจตามประเภทธุรกิจของลูกค้า และกลุ่มงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล

เอบีมมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใน 7 บริการ ได้แก่ บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ (Strategy) บริการที่ปรึกษา CIO (CIO advisory) บริการที่ปรึกษาด้านการขายและโลจิสติกส์ (Sales & logistics) บริการด้านการบริหารและการควบคุมการเงิน (Financial management & control) บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทุนบุคลากร (Human Capital Management) บริการที่ปรึกษาด้านการบริการและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data management & analytics) และบริการที่ปรึกษาด้านการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Operational excellence)

ปี 2561 เอบีม คอนซัลติ้ง มีรายได้ในประเทศไทยประมาณ 702 ล้านบาท รวมมีลูกค้า 180 ราย สัดส่วนมาจากบริษัทญี่ปุ่น 60-70% บริษัทไทยประมาณ 20% นอกนั้นมาจากยุโรปหรืออเมริกา คาดว่าในปี 2562 จะเติบโตประมาณ 29 % หรือมีรายได้กว่า 906 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการให้บริการที่ปรึกษาให้กับ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานและรถยนต์, ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภค ทั้งที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการทางการเงิน

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว ทว่าความต้องการลงทุนด้านไอทียังคงเพิ่มขึ้นสวนทาง เนื่องจากวันนี้ภาคธุรกิจต่างตระหนักเป็นอย่างดีว่าไอทีเป็นตัวจักรสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการและช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้