สทนช. ทดลองใช้กรอบแม่โขง-ล้านช้าง แก้ปัญหาแม่น้ำโขงผันผวน

สทนช. ทดลองใช้กรอบแม่โขง-ล้านช้าง แก้ปัญหาแม่น้ำโขงผันผวน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเชิญ 4 ชาติ รวมทั้งจีนเข้าร่วมประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation) แก้วิกฤติแม่น้ำโขงผันผวนจากการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ได้เปิดเผยว่า สทนช.ในฐานะคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ (ฝ่ายไทย) ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้จัดประชุมหารือคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำฯ ร่วมกับประเทศสมาชิกช่วงวันหยุดที่ผ่านมา โดยมี 4 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ ไทย จีน เมียนมาร์ และเวียดนาม โดย สปป.ลาว ไม่ได้เข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่าช่วงเวลาที่จัดประชุมกระชั้นชิดเกินไป

ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาคและการพยากรณ์ฝนและอุทกวิทยา และต้องการหารือกรอบแนวทางการตอบสนองข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งของประเทศสมาชิก อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำ การปล่อยน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนและลาว ปริมาณน้ำฝน และการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการความร่วมมือระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังต้องการหารือแนวคิดเบื้องต้นในการร่วมมือกันเพื่อจัดการวิกฤตน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง นายสมเกียรติกล่าว

“จากเหตุการณ์ปริมาณน้ำระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว สทนช. จึงได้เร่งเชิญผู้แทนระดับสูงจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง มาหารือร่วมกันพิจารณาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน" นายสมเกียรติกล่าว

ซึ่งในเบื้องต้น ได้มีการกำหนดรูปแบบในการที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประเทศเหนือน้ำหรือท้ายน้ำ รวมถึงช่องทางในการที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่หลัก เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะใช้ในรูปแบบการส่งผ่านข้อมูลด้วยระบบไอทีและเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงจะมีการนำประเด็นความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ยกระดับสู่การประชุมในระดับรัฐมนตรีต่อไป

ในการกำหนดโครงการหรือวางแผนพัฒนาโครงการสาขาทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิกในการที่จะรับทราบข้อมูลข่าวสารและถ่ายทอดสู่ประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารรวดเร็วขึ้น สามารถเตรียมการป้องกันและลดผลกะทบได้ล่วงหน้า นายสมเกียรติกล่าว พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ทางประเทศจีนพร้อมที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น อัตราการไหลของน้ำหรือปริมาณการระบายน้ำ แต่อาจจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม

นายสมเกียรติกล่าวว่า ทางไทยต้องการให้แต่ละประเทศแบ่งปันข้อมูลปริมาณฝนระหว่างกันด้วยเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ซึ่งทางจีนก็รับทราบและจะนำไปประกอบการทำแผนงานโครงการในระยะสั้นและแผนปฏิบัติการสาขาทรัพยากรน้ำ 5 ปี พ.ศ. 2561 – 2565 (ฉบับปรับปรุง) ต่อไป

นอกจากการหารือร่วมกันในการประชุมแล้ว สทนช.ยังได้เชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกลงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตอาชีพของประชาชนริมฝั่งโขง ทั้งการอุปโภค-บริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศทั้งด้านเกษตร การประมง การท่องเที่ยว พลังงาน คมนาคมฯลฯ

“การหารือคณะทำงานร่วมทรัพยากรน้ำครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เป็นระบบ และสอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกและประชาชนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งทุกประเทศเล็งเห็นความสำคัญที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลให้รวดเร็วและเพิ่มขึ้น พร้อมกับศึกษาร่วมกันในสาเหตุที่แท้จริง และร่วมกันป้องกันภัยต่อไป” นายสมเกียรติกล่าว