เมียนมาระดมทหารช่วยเหยื่อน้ำท่วม

เมียนมาระดมทหารช่วยเหยื่อน้ำท่วม

ความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เวลานี้มุ่งไปที่รัฐมอญ ที่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนักที่สุดของประเทศ

เมียนมาระดมกำลังทหารไปยังพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนหลังระดับน้ำยังเพิ่มสูง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดินถล่มเพิ่มขึ้นเป็น 59 คน

เจ้าหน้าที่บรรเทาภัยฉุกเฉินเมียนมาระดมยังคงกำลังหลายร้อยคน เพื่อกู้ศพเหยื่อออกจากซากปรักหักพังและโคลนเลน หลังเกิดดินถล่มทับบ้านเรือนราษฎรกว่า 30หลังในรัฐมอญเมื่อวันศุกร์(9 ส.ค.)นอกจากนั้นยังเร่งขนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่เพื่อขุดดินค้นหาเบาะแสของผู้สูญหาย ซึ่งคาดว่าอาจมากถึง 80 คน

“เราพบศพเพิ่มอีก 3 ศพในวันจันทร์ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดเพิ่มเป็น 59 คน” หน่วยดับเพลิงเมียนมาระบุในหน้าเพจเฟซบุ๊ค วานนี้ (12 ส.ค.)

ขณะที่ฝนยังคงตกหนักในหลายพื้นที่ของรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะฉิ่น ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม สะพานได้รับความเสียหาย ขณะที่ประชาชนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยทางเรือ

เมื่อถึงช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญต่อภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้ กองกำลังทหารก็จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง

“หน่วยทหารของเรากำลังทำงานเพื่อช่วยค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และเราจะใช้เฮลิคอปเตอร์จัดส่งเสบียงอาหาร” พลจัตวา ซอ มิน ตุน กล่าว

ความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เวลานี้มุ่งไปที่รัฐมอญ ที่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนักที่สุดของประเทศ

“ปีนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่หมู่บ้านใกล้เคียง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงหมู่บ้านเหล่านั้นได้” ชาวบ้านคนหนึ่งเผยกับเอเอฟพี

ภาพถ่ายจากพื้นที่เผยให้เห็นชาวเมืองรวบรวมทรัพย์สินขึ้นเรืออพยพไปยังที่สูง

บ้านเรือนมากกว่า 4,000 หลังในรัฐมอญถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคา ชาวเมืองกว่า 25,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น อาศัยพักหลบภัยอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์

นายเฮนรี วัน เทียว รองประธานาธิบดีเมียนมาออกเยี่ยมผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดินถล่มในเมืองปอง ของรัฐมอญ เมื่อวันเสาร์ (10) โดยให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ หนังสือพิมพ์รายงาน

ส่วนสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นราว 89,000 คน

นอกเหนือจากรัฐมอญแล้ว รัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะฉิ่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงล้วนได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ด้วยขณะที่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (โอซีเอชเอ) ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกได้ระดมความช่วยเหลือด้วย