รายงาน: ASEAN SMART Patrol, ความหวังงานอนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียน

รายงาน: ASEAN SMART Patrol, ความหวังงานอนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียน

ในฐานะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับหัวหน้างาน เซือง เขมมะรัก รองหัวหน้าอุทยานแห่งชาติโอยาดาฟที่ตั้งใหม่ พอจะรับรู้สถานการณ์อันตึงเครียดของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้ชายแดนอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากุเลนพรหมเทพหรือพระวิหารที่เต็มไปด้วยระเบิดและพวกลักลอบตัดไม้

ถัดเข้ามาในประเทศ สถานการณ์ก็ดูจะไม่ต่างกันนักในพื้นที่ที่เป็นความหวังของเสือของประเทศอย่างเขตรักษาพันธุ์ฯซเรปก ที่มีความพยายามจะนำเสือไปปล่อยเพื่อฟื้นฟูประชากรอีกไม่นานนี้

ภัยคุกคามต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เขมมะรักนึกถึงความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กัมพูชาและไทยแม้จะยังเป็นเรื่องที่ดูห่างไกลจากความเป็นจริง และสิ่งที่อาจเป็นไปได้มากกว่าอย่างการต่อยอด “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” ด้วยเครื่องมืออันทันสมัยอย่างการติดตั้งกล้องดักจับความเคลื่อนไหวของพวกลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่า NCAPS (Network Centric Anti-Poaching System)

 “ผมเห็นพวกเค้าใช้กล้องจับภาพเสือและเอามาช่วยจับภาพพวกลักลอบตัดไม้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ติดตั้งอุปกรณ์หรือสัญญาณ แต่หมายถึงการฝึกเจ้าหน้าที่ให้ใช้ให้ถูกวิธีด้วย ที่จังหวัดผมยังไม่มีอะไรแบบนั้น เราไม่มีเทคโนโลยีระดับสูงแบบนั้น

“พวกเราเรียนรู้เรื่องการลาดระเวนเชิงคุณภาพเมื่อสองสามปีที่แล้ว และรู้ว่ามันสามารถช่วยเก็บข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่และช่วยในการตัดสินใจได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

“ถ้ามีกล้องแบบนั้นคงจะช่วยได้อีกเยอะ ผมอาจต้องหาอย่างอื่นแทน บางที องค์กรต่างประเทศอาจช่วยสนับสนุนเราได้ หรือถ้าไม่มี… ก็คงต้องใช้คนของผมเหมือนเดิม” เขมมะรักในวัย 39 ปี กล่าวยิ้มๆ

เขมมะรัก เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้างานและผู้บริหารระดับสูงจาก 8 ประเทศอาเซียน ที่ได้รับเชิญจากประเทศไทยพร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรอนุรักษ์นานาชาติรวมกว่า 70 คน เข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมศักยภาพระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (International Conference on Strengthening of SMART Patrol System in ASEAN) โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นเจ้าภาพ และมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดในช่วงของการจัดงานวันพิทักษ์ป่าโลก เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา  

การจัดประชุมดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและได้ริเริ่มข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคในหลายๆด้าน นับเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการเชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับหัวหน้างานและผู้บริหารระดับสูงมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์และสัตว์ป่าภายใต้ระบบ “SMART Patrol System”

นอกจากนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคาดหวังว่าจะได้หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ภัยคุกคามด้านป่าไม้และสัตว์ป่ามีการขยายตัวข้ามพรมแดนอยู่ในขณะนี้

ซึ่งก่อนการประชุม ทางเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้างานและระดับปฏิบัติการบางส่วนจาก 8 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อศึกษาตัวอย่างและติดตามสถานะของสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ การใช้ระบบกล้องดักถ่ายภาพ NCAPS การปฏิบัติงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และได้ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคในการลาดตระเวนและการประยุกต์ใช้ระบบ SMART Patrol System ในแต่ละประเทศ ก่อนจะประมวลเป็นรายงานนำเสนอในที่ประชุม_รวมทั้งตัวเขมมะรัก

 

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol System)

หากย้อนกลับไปประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ ที่เรียกทับศัพท์ว่า “สมาร์ท พาโทรล” อาจไม่เป็นที่รู้จักในสังคมมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลจากการดำเนินการยังไม่เป็นที่ประจักษ์เหมือนอย่างในทุกวันนี้

จากการลาดตระเวนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์เข้ามาช่วยในการบันทึกจับพิกัดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและภัยคุกคาม, ข้อมูลในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญๆ ของประเทศถูกรวบรวมขึ้นอย่างเป็นระบบ ก่อนนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์สังเคราะห์ เกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่นำไปสู่การวางแผนคุ้มครองพื้นที่ และกลายเป็นระบบป้องกันคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์และทรัพยากรและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งของประเทศ

กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในป่าลึกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศคือจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นแรงบันดาลใจให้กับระบบลาดตะเวนเชิงคุณภาพที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้

ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย (Wildlife Conservation Society-Thailand Program) ผู้ร่วมพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Nation เมื่อไม่นานมานี้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า หลังจากที่สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้งในขณะนั้นได้พยายามจัดทำรายงานเอกสารนำเสนอเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 เขาได้ตัดสินใจยิงตัวตายในเวลาต่อมาและทิ้งพินัยกรรมทางธรรมชาติเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยความคิดและความฝันในการอนุรักษ์ผืนป่าขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่กว่า 6,400 ตารางกิโลเมตรที่เป็นหัวใจของผืนป่าตะวันตกพื้นที่รวมกว่า 18,000 ตร.กม.นี้คือ การผนวกมันเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การจัดการที่เป็นระบบนิเวศน์เดียวและเข้มแข็ง

เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของหัวหน้าสืบ ไม่ว่าจะเป็น ชัชวาลย์ พิศดำขำ ซึ่งรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ในเวลาต่อมา หรือ ดร. อนรรฆ และคนอื่นๆ ร่วมสืบทอดเจตนาของหัวหน้าสืบนับตั้งแต่นั้นมา โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศน์ ชัชวาลย์ได้ทดลองจัดการพื้นที่ “เชิงนิเวศน์” ผ่านความพยายามรวบรวมผืนป่าตะวันตกทั้งหมดซึ่งมีอยู่ถึง 17 ผืนป่าเข้าไว้ด้วยกันภายใต้ระบบจัดการเดียวกัน พร้อมทั้งริเริ่มวางระบบป้องกันคุ้มครองพื้นที่ที่เรียกว่า “การลาดตระเวนอย่างมีคุณภาพ (smart patrolling)” ด้วยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ทำการลาดตระเวนอย่างเป็นระบบด้วยการจดบันทึกข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์อย่าง GPS เข้าช่วย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของชัชวาลย์ต้องยุติลงเมื่อโครงการจบลง และในระหว่างนั้นยังไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์วางแผนงาน

ในช่วงที่เขากลับมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้งในช่วงปี พ.ศ. 2548 หัวหน้าชัชวาลย์จึงได้ร่วมกับ ดร. อนรรฆซึ่งเคยเป็นผู้ร่วมงานในโครงการป่าตะวันตกฯ ผลักดัน “การลาดตระเวนอย่างมีคุณภาพ” นี้อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ดร.อนรรฆ ได้ประสานไปยังสำนักงาน CITES MIKE ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ติดตามการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปราบการล่าช้างในทวีปแอฟริกา (MIKE) มาประยุกต์ใช้กับงานลาดตระเวนของห้วยขาแข้ง เพื่อช่วยในการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สำหรับการวางแผนงานป้องกันฯ

จากโปรแกรมฐานข้อมูล MIKE สู่โปรแกรมฐานข้อมูล MIST, นักพัฒนาโปรแกรมจากองค์กรอนุรักษ์ชั้นนำของโลก รวมทั้ง WCS ได้เข้ามาช่วยพัฒนาโปรแกรมใหม่ร่วมกันจากประสบการณ์งานลาดตระเวนของประเทศไทย จนนำมาสู่โปรแกรมใหม่ที่เรียกว่า SMART (Spatial Monitoring and Reporting Tool) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2550

นับตั้งแต่นั้นมา การลาดตระเวนด้วยการใช้โปรแกรมฐานข้อมูล SMART ก็ได้รับการยอมรับและนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก และผู้คนต่างเรียกระบบการป้องกันคุ้มครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์นี้ว่า SMART Patrol System ซึ่งหัวหน้าชัชวาลย์ได้เรียกมันทับศัพท์สำหรับระบบที่ใช้ในประเทศไทยว่า “สมาร์ท พาโทรล” (Smart Patrol)

จากรายงานประจำปีของคณะกรรมการร่วมพัฒนาโปรแกรม SMART ในปี 2018 พบว่า มีมากกว่า 675 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลกที่กำลังใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol System โดยมีถึง 14 ประเทศที่ใช้ระบบป้องกันคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์นี้ในระดับประเทศ ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ประยุกต์ใช้ระบบนี้ และได้รับการยอมรับว่ามีความก้าวหน้าในภูมิภาคมากที่สุดในเวลานี้

 

Asean Smart Patrol

จากการประมวลภาพของ ดร. อนรรฆ พบว่า SMART Patrol System ที่ถูกประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ในภูมิภาค Asean มีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน และส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับพื้นที่ หรือ site level ซึ่งหมายถึงยังไม่สามารถให้การป้องกันพื้นที่อย่างครอบคลุม

ดร. อนรรฆกล่าวว่า ทางอินโดนีเซียและมาเลเซียมีโจทย์ที่ท้าทายคล้ายกับประเทศไทยคือต้องการรักษาเสือโคร่งซึ่งเป็นสปีชีย์หลักของผืนป่าไว้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม การวางกำลังป้องกันพื้นที่ด้วยระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพยังเป็นเพียงระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งอยู่ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

แม้จะมีพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่กลับพบว่าอินโดนีเซียมีกำลังเจ้าหน้าที่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตรากำลังที่จำเป็นในการดูแลรักษาพื้นที่ ในขณะที่ทางมาเลเซียเองต้องอาศัยกำลังทหารเข้ามาช่วย และการลาดตระเวนยังเป็นลักษณะของ “ปฏิบัติการ” ซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งถึงสองครั้ง

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ของประเทศทางลุ่มน้ำโขงก็แทบจะไม่มีความแตกต่างกันมากคือยังมีการลาดตระเวนในระดับพื้นที่ โดยใน สปป.ลาว การลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้ถูกทดลองดำเนินการที่อุทยานแห่งชาตินากาย-น้ำเทิน ทางตอนใต้ติดชายแดนเวียดนาม ส่วนในกัมพูชา ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้ถูกทดลองดำเนินการในเขตรักษาพันธุ์ฯ ซเรปก ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความหวังของเสือโคร่งในกัมพูชา และที่อื่นๆ อีกสองสามที่

สำหรับประเทศไทยที่มีการพัฒนาระบบลาดตระเวนมากว่า 10 ปี และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทางกรมอุทยานฯ ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพขึ้นในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา และงานลาดตระเวนฯ ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปขององค์กรและประเทศ รวมทั้งถูกระบุในยุทธศาสตร์ชาติว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยที่ผ่านมา การลาดตระเวนเชิงคุณภาพถูกดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศ 204 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศเกือบทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบติดตามประเมินมาตรฐานการลาดตระเวนอยู่เป็นระยะ เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินการในแต่ละพื้นที่

“ถ้ามองในระดับภูมิภาค ก็จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะเป็นในระดับพื้นที่ที่มีองค์กรต่างประเทศสนับสนุน ยังไม่ได้เป็นระดับประเทศที่มีภาครัฐรับผิดชอบชัดเจนเหมือนประเทศไทยซึ่งได้ขยายเป็นภาพรวมแล้ว

“หัวใจสำคัญของงานอนุรักษ์ไม่ได้อยู่ที่จะเอาเสือไปปล่อยกี่ตัว แต่มันต้องอยู่รอด และจะรอดได้มันต้องมีระบบป้องกันที่เข้มแข็งนี่แหละ มันก็เลยมีการดำริของผู้ใหญ่ในกระทรวงขึ้นมาว่างานลดตระเวนของเราเข้มแข็ง แล้วของชาติอื่นล่ะ เป็นยังไงแล้ว ก็เลยเป็นที่มาของการคิดจัดการพูดคุยแลกเปลี่ยน อย่างน้อยก็จะได้จุดประกายให้เค้าอยากมาทำงานร่วมกับเรา หรือไม่ก็กลับไปทำให้ระบบของเค้าเข้มแข็งขึ้น” ผู้อำนวยการศูนย์ฯ สมปอง ทองสีเข้มกล่าว

หลังการพบปะแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ดร. อนรรฆเปิดเผยว่า ทางอินโดนีเซียและมาเลเซียเริ่มมองในประเด็นความเข้มข้นของงานลาดตระเวนที่ต่างกันของแต่ละประเทศที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของภัยคุกคามจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอให้มีการรวมกลุ่มในระดับเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้างานและระดับสูงที่มาร่วมเวทีเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการป้องกันยับยั้งภัยคุกคามที่อาจข้ามพรมแดนในอนาคต โดยเบื้องต้น อาจมีการจัดตั้งกลุ่มพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดียที่มีอยู่ ดร.อนรรฆกล่าว

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จะพบว่าแทบไม่มีความแตกต่างกัน เพราะโดยภูมิประเทศและวิถีชีวิตไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน และเมื่อมองถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ก็มีความคล้ายกันแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์ป่า เพื่อสนองการบริโภค หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ

นอกจากนี้ ภัยคุกคามยังมีลักษณะข้ามพรมแดนมากขึ้น และขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในอาเซียนว่าจะร่วมมือจัดการปัญหานี้อย่างไร

การสร้างมาตรฐานการป้องกันฯ ในระดับเดียวกันและการสร้างเครือข่ายจึงเรื่องที่จำเป็นในมุมมองของนายสมโภชน์ ซึ่งเคยรับมือกับการล่าสัตว์ป่าข้ามชาติในพื้นที่

ดาโต๊ะ ฟาครุล ฮัตตะ บิน มุสา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า ประเทศมาเลเซียกล่าวว่า การมาพบปะพูดคุยกันถึงความก้าวหน้าของงานป้องกันฯ ของแต่ละประเทศในอาเซียนถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะยังมีความท้าทายร่วมกันคือภัยคุกคามต่อป่าไม้และสัตว์ป่าข้ามพรมแดนและความร่วมมือข้ามพรมแดน พร้อมกล่าวเสริมถึงการพูดคุยที่อาจไม่ได้เป็นทางการเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปิดใจพูดคุยกันถึงปัญหาที่มี

“เรากำลังอยู่ในระหว่างการต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่า ที่เป็นรองจากการค้าอาวุธ การค้ายา และการลักลอบขนคนเข้าประเทศ ดังนั้น ทุกประเทศมีหน้าที่ที่จะต้องทำในเรื่องนี้” ดาโต๊ะกล่าว

สำหรับ ดร. อนรรฆ เขาไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่า “การพูดคุย” จะนำไปสู่ “แรงบันดาลใจ” ที่อยากจะทำอะไรเพื่อป่าไม้และสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาจากประเทศที่ยังมีระบบลาดตระเวนที่ยังไม่เข้มแข็ง

“เราก็พร้อมที่จะช่วยฝึกช่วยให้ความรู้เขา เพราะเรามีตรงนี้แล้ว เราพร้อมเป็นต้นแบบให้” ดร.อนรรฆ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ ด้วย กล่าว

เขมมะรักเองกล่าวทิ้งท้ายว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นที่อาจต้องทำงานในมาตรฐานเดียวกัน จากสถานการณ์ข้ามพรมแดนที่เจอ เขากล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะลองแสวงหาการทำงานร่วมกัน

“การพบปะพูดคุยในกรอบข้ามพรมแดนแบบนี้ปีละครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” เขมมะรักกล่าว

 

ภาพ เขมมะรัก(คนที่สองจากซ้าย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ที่เขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง/ เครดิต: ขวัญชัย ไวธัญญการ/ WCS Thailand