“เฮลท์สไมล์” ชูเอไอ เชคอัพสุขภาพรายบุคคล

“เฮลท์สไมล์” ชูเอไอ เชคอัพสุขภาพรายบุคคล

“เฮลท์สไมล์”สตาร์ทอัพด้านการแพทย์ ผู้พัฒนาโปรแกรมข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อคัดเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงให้ลูกค้าแต่ละรายถึงบ้าน แทนการตรวจหว่านแห เตรียมขยายเครือข่ายรองรับลูกค้าองค์กร โรงงานทั่วประเทศ

จากข้อมูลพบว่า คนไทยมีการตรวจสุขภาพแบบประจำปี คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นแพ็กเกจการตรวจทั่วไป และข้อมูลการตรวจในแต่ละปีไม่มีความต่อเนื่อง เพราะ มักจะเปลี่ยนไปตามแพ็กเกจที่องค์กรเลือกในแต่ละปี ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกับปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน

ด้วยพื้นฐานความเป็นแพทย์ ของผู้ก่อตั้ง บริษัท เฮลท์สไมล์ จำกัด จึงมองเห็นโอกาส จากปัญหาที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ของผู้ใช้บริการการตรวจสุขภาพประจำปี จึงนำเสนอระบบที่ตรวจแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อแนะนำแพ็กเกจการตรวจสุขภาพเฉพาะบุคคลว่าควรไปตรวจด้านใดเพิ่มเติม หรือควรตัดรายการตรวจสุขภาพในด้านที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้การตรวจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์  ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง บริษัท เฮลท์สไมล์ จำกัด เล่าว่า ผู้ใช้บริการสามารถกรอกข้อมูลของตนเอง ลงในเว็บไซต์ เริ่มจากประวัติครอบครัว ลักษณะงาน การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารที่ชอบรับประทาน การออกกำลังกาย โรคประจำตัว ฯลฯ จากนั้นระบบปฏิบัติการจะประมวลผล และเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตรงกับความเสี่ยงของแต่ละคน ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะตรวจมากเกินความจำเป็น หรือตรวจน้อยไปทำไม่ครอบคลุมและที่สำคัญบริการถึงบ้านทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องลางาน ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชันและอีเมล์

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถเข้าถึงเพอร์เซอนัลไลฟ์ของแต่ละคนได้มากขึ้น โดยพัฒนาระบบให้ช่วยเลือกการตรวจโรคเฉพาะบุคคล ด้วยเทคโนโลยีเอไอ ผสมผสานกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ทำให้ได้โปรแกรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยลดภาวะความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

1 ปี 8 เดือนในการดำเนินธุรกิจบริการด้านเฮลท์แคร์ ที่ได้โจทย์จากปัญหาใกล้ตัว ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แม้กระนั้นยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ยกตัวอย่าง การสร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการว่า บริการดังกล่าวได้รับมาตรฐานตามเกณฑ์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการจากเดิมที่พยาบาลจะไปให้บริการตามเวลาที่ลูกค้ากำหนดซึ่งบางครั้งเป็นเวลากลางคืนจึงต้องปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการเป็นช่วงกลางวันแทนทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร

ขณะเดียวกัน พัฒนาโปรแกรมสำหรับศูนย์ตรวจสุขภาพและคลินิกที่เข้ามาเป็นเครือข่ายพันธมิตรในการให้บริการ ตรวจสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งวางเป้าหมายไว้ว่า ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าจะขยายการให้บริการออกไปใน 10 จังหวัดของไทย เนื่องจากต้องการขยายฐานผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ดังนั้นลำพังทีมงานที่มีจำนวนจำกัด จึงไม่เพียงพอที่รอรับกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละพื้นต่างกัน

“เราจึงใช้วิธีกระจายระบบไปให้กับเครือข่ายพันธมิตรที่เข้าร่วม เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูล ระบบทำการเลือกแพ็กเกจที่เหมาะสมให้จากนั้นจะส่งทีมแพทย์พยาบาลเข้าไปตรวจ ล่าสุดขยายไปกลุ่มองค์กร มี 4 บริษัทและ 2 โรงงาน รายได้หลักยังมาจากบริการรายบุคคล 80% ที่เหลือ 20% มาจากองค์กร”

เมื่อมีฐานข้อมูลผู้ใช้บริการจำนวนมากจะทำงานวิจัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เนื่องจากทางการแพทย์จะให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่มีหลักฐานทางการแพทย์ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก หากได้ผลงานวิจัยมารองรับถึงความแม่นยำในการตรวจเจอโรคเพิ่มได้กี่เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีการตรวจสุขภาพแบบเพอร์เซอร์นัลไลฟ์ ตรงกับความเสี่ยงของสุขภาพของผู้รับบริการ จะทำให้ได้รับการยอมรับจากโรงพยาบาลให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการได้ในอนาคต

ตามแผนที่วางไว้3-4 ปีน่าจะถึงจุดคุ้มทุน ปีครึ่งที่ผ่านมาถือว่าทำได้ตามเกณฑ์ ยกเว้น ถ้ามีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนอาจทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในรูปแบบการร่วมทุนจากกลุ่มโรงพยาบาล หรือ เวนเจอร์แคปปิตอล(venture capital – VC ) แต่คงต้องใช้เวลา เพราะธุรกิจด้านเฮล์ทแคร์ไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจสายเทคโนโลยี

ปัจจุบันเฮลท์สไมล์ สามารถมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีรายได้ 2 ล้านกว่าบาท คาดว่า จะมีรายได้ 3-4 ล้านบาทต่อปีหากสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และในอนาคตระบบการตรวจดังกล่าวจะขยายฐานลูกค้าไปในตลาดต่างประเทศ โดยใช้ระบบดาต้า และเทคโนโลยีเอไอ เข้ามาสนับสนุน อย่างไรก็ตามแนวโน้มของธุรกิจเฮล์ท เทคโนโลยีในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจากกลุ่มคอร์ปอเรทขนาดใหญ่ ที่ให้ความสนใจ เช่น ระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) ส่งผลให้การแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้น

“เมื่อบริษัทใหญ่เข้ามาจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกมั่นใจขึ้น และถ้าแพจเกจราคาค่าบริการของรายเล็กเหมาะกับกำลังซื้อ จะทำให้เขาตัดสินใจเลือกใช้บริการรายเล็กมากขึ้น ฉะนั้นการเข้ามารายใหญ่ถือเป็นการช่วยสร้างความรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพของคนมากขึ้น ส่วนข้อเสียคือถ้าไม่เก่งจริงอยู่ต่อไม่ได้”

นพ.ประสิทธิ์ แนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องมีบิสซิเนส โมเดล ที่ดีต้องมีกลยุทธ์เป็นของตัวเอง และบางครั้งต้องเรียนรู้จากการ ‘ลองผิดลองถูกก่อนที่ปรับแผนให้เหมาะสมกับความเป็นจริงในตลาด  ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เคยทดลองไปทำตลาดที่จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี ทั้งในเมืองและชุมชน พบว่า ถ้าเป็นลูกค้าเจนวายที่มีอายุ 30-40 จะให้ความสนใจแต่ถ้าเป็นลูกค้าเจนเอ็กซ์ หรือ เบบบี้บูม จะไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เปลี่ยนแผนจากออนไลน์ทูออฟไลน์ควบคู่กันไปโดยหาพาร์ทเนอร์ในพื้นที่เข้ามาช่วยให้บริการแก่ลูกค้า

“เราเข้าไปเพิ่มคุณค่าให้กับศูนย์ตรวจสุขภาพและคลินิกเครือข่ายด้วยการใส่ระบบเทคโนโลยีเข้าไปให้ในการบริการโดยเขาจะคัสตอมไมซ์ลูกค้าว่าจะเป็นกลุ่มคนไหน ขณะที่เราพัฒนาคำถามในแบบสอบถามให้เหมาะกับคนในพื้นที่นั้นๆ เช่น แทนที่จะถามว่ากินเค็มไหม ถามว่ากินแจ่วบ่อยไหม เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำเพราะในทางการแพทย์จะใช้ภาษาแบบหนึ่ง ส่วนทางเทคโนโลยีก็เป็นภาษาอีกแบบ จึงต้องปรับให้ตรงกันและมีความเข้าใจตรงกัน นำเสนอข้อมูลสู่ผู้ใช้บริการที่ทุกคนให้มีความเข้าใจตรงกัน”

------------------------ 

ปัจจัยความสำเร็จ

  1. สินค้าหรือบริการต้องเลี้ยงตัวเองได้
  2. มีจุดเด่นที่แตกต่างจากบริการที่มีอยู่
  3. เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  4. ผสานความรู้เฉพาะทางสร้างความต่าง

    5.บริการช่วยแก้ปัญหาของลูกค้า