ภท.แจง5ข้อปมร้อน เหตุไม่เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส หวั่นเอื้อบางคน

ภท.แจง5ข้อปมร้อน เหตุไม่เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส หวั่นเอื้อบางคน

แหล่งข่าว ภท. แจง5ข้อปมร้อน เหตุไม่เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส หวั่นเอื้อบางคน

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทย เเจ้งว่าภายหลังที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีข้อสรุปแนวทางเกี่ยวกับรถตู้สาธารณะ 2 ประเด็นหลัก คือไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรถตู้เป็นรถไมโครบัสในทันที แต่เปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ และขยายการบังคับใช้รถตู้ที่หมดอายุการใช้งาน 10 ปี ขยายเวลาเป็น 12 ปี โดยรับมาจากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถตู้ที่ขอขยายเวลาสิบห้าปี เเต่ตอนนี้มีการนำเรื่องนี้มาเผยเเพร่เเละวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อรมว.คมนาคมในสังคมออนไลน์ในตอนนี้นั้น

เหล่งข่าวกล่าวว่า ความเป็นจริงมติความเห็นข้างต้นเเละรมว.คมนาคมไม่ได้หวังเอาใจชาวรถตู้เพียงอย่างเดียวแต่ได้พิจารณาสภาพความเป็นจริงของผู้เกี่ยวข้องทุกมิติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่โดยสารรถสาธารณะเป็นเป้าหมายหลัก พร้อมทั้งยังปิดช่องมิให้บุคคลใดหรือคณะใด ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนรถตู้ไปเป็นรถไมโครบัส

เเหล่งข่าวกล่าวว่า ขอชี้เเจงกรณีข้างต้นดังต่อไปนี้ ประการแรก สิ่งที่รมว.คมนาคม เสนอคือให้เป็นสิทธิของผู้ประกอบการ ใครอยากเปลี่ยนเป็นไมโครบัสก็เปลี่ยนได้ไม่ได้ห้าม ตามความเหมาะสมกับการบริการของแต่ละพื้นที่ และสถานะเศรษฐกิจของแต่ละคน เพื่อไม่เป็นการมัดมือชก ไม่เป็นการบังคับซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและการลงทุน

ส่วนการขยายเวลารถตู้หมดอายุจากเดิม 10 ปีเป็น 12 ปี เพื่อลดภาวะค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แต่รถตู้แต่ต้องผ่านการตรวจคุณภาพ และให้หารือกับกรมการขนส่งทางบกเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งไม่ให้เกิดการโกงไมล์ หรือการโกงอายุรถตู้

ประการที่สอง มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่า อุบัติเหตุบนถนนเกิดจากผู้ขับขี่บกพร่อง และประมาท เมาแล้วขับ มากกว่าเกิดจากยานพาหนะ

ประการที่สาม หากมีการบังคับให้ปรับเปลี่ยนจากรถตู้เป็นไมโครบัสทั้งหมด จะทำให้เกิดปัญหาไม่มีรถให้บริการประชาชน เพราะผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัสมาให้บริการ เนื่องมีราคาสูงกว่ารถตู้ 1 เท่าตัวจากรถตู้ 1 ล้านบาทเศษเป็น 2 ล้านบาทเศษ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส และหากมีต้นทุนรถเพิ่ม ก็จะกระทบกับการบริการประชาชนทั้งราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น และรถที่ไม่เพียงพอ

ประการที่สี่ รถตู้เป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย มีการจ้างแรงงาน สร้างรายได้ให้คนไทย แต่รถไมโครบัส เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากใช้รถไมโครบัส 100% ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และ คนงานไทยที่จะไม่มีงานทำในสภาวะที่ปัญหาเศรษฐกิจปากทองเป็นปัญหาหลักของประเทศตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ที่จะต้องเร่งแก้ไขด่วน

ประการที่ห้ากระแสวิจารณ์กรณีนี้ในสังคมในขณะนี้ ทราบว่าเกิดจากผู้วางแผนนำเข้ารถไมโครบัสจากจีน เข้ามาขายแทนการใช้รถตู้ จนเสียประโยชน์ จากสิ่งที่รมว.คมนาคมระบุว่าไม่มีการบังคับให้เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แต่ให้สิทธิผู้ประกอบการเลือก ว่าจะใช้รถตู้หรือไมโครบัสก็ได้ ซึ่งทราบว่าการสั่งต่อรถไว้แล้ว มากกว่า 10,000 คัน ซึ่งหากมีการบังคับให้เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ทั้งหมด จะเสียเงินออกนอกประเทศ มากกว่า 20,000 ล้านบาท ที่น่าจะกระทบภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้

ปิดท้ายด้วยประการที่หก สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ด้วยการตรวจสอบผู้ขับขี่รถอย่างเข้มงวด และการตรวจสอบสภาพรถอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการรับผู้โดยสารตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้