แก้ปม'ความเหลื่อมล้ำ'ภาคธุรกิจ...โจทย์ที่แบงก์ชาติต้องคิด!

แก้ปม'ความเหลื่อมล้ำ'ภาคธุรกิจ...โจทย์ที่แบงก์ชาติต้องคิด!

“บิ๊กเซอร์ไพร์ส” จาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แบบเหนือการคาดหมายของตลาด และทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5% จากเดิม 1.75% ส่งผลให้ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) ปรับ “ลดลง” แบบ “ยกแผง” โดยเฉพาะบอนด์ยิลด์ระยะยาวที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

บอนด์ยิลด์ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.2562 รุ่นอายุ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 1.42% และ รุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.53% หากเทียบกับช่วงต้นปี บอนด์ยิลด์ ทั้ง 2 รุ่นนี้ อยู่ที่ระดับ 2.10% และ 2.45% ตามลำดับ เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงินสำหรับการออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาลลดลงไปมาก

อย่างไรก็ตาม หลังการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ยังไม่พบว่า มีธนาคารพาณิชย์รายใดที่ปรับลดดอกเบี้ยตาม ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ได้เอง แต่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ยังคงมีต้นทุนเท่าเดิม ส่งผลต่อ "ความเหลื่อมล้ำ" ในระบบการเงินที่เพิ่มขึ้น

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลบอนด์ยิลด์รุ่นอายุ 5 ปี และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัทที่มีเครดิตเรทติ้งในระดับ AAA พบว่า หลัง กนง. ลดดอกเบี้ย ผลตอบแทนการลงทุนของตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ก็ปรับลดลงตามทันทีเช่นกัน ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์รุ่น 5 ปีและหุ้นกู้เกรด AAA เทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์มีความถ่างมากขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.4% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี

จากข้อมูลในระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) และ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี(MOR) รวมไปถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) ปรับลดลงครั้งสุดท้าย คือ ในเดือนมิ.ย.2560

“นริศ” ระบุด้วยว่า บอนด์ยิลด์ที่ลดลง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพอาจหันมาระดมทุนผ่านตลาดบอนด์แทนการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงที่ ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ก็จะมีต้นทุนการเงินที่เท่าเดิม ทำให้ความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นได้

“ยอดการออกหุ้นกู้ช่วงที่ผ่านมาเร่งตัวขึ้น เนื่องจากยิลด์อยู่ระดับต่ำ ยิ่งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงบอนด์ยิลด์ก็ยิ่งลดต่ำลงมา ถ้าแบงก์พาณิชย์ไม่ปรับดอกเบี้ยลงตาม ก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ ไม่มีการส่งผ่านนโยบายการเงิน หรือจะส่งผ่านก็ผ่านช่องทางรองๆ คือ คาดการณ์เงินเฟ้อ ราคาพันธบัตรในตลาด แต่ไม่ได้ส่งผ่านช่องทางแบงก์พาณิชย์ ก็เลยทำให้ดอกเบี้ยของทั้ง 2 ตลาดเกิดการเขย่งที่มากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าดอกเบี้ยแบงก์ไม่ลด แต่ดอกเบี้ยบอนด์ยิลด์ลดแล้ว”

นริศ มองว่า สิ่งที่ ธปท. พอจะทำได้ คือ การขอความร่วมมือ(moral suasion) จากธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยลดดอกเบี้ยลงตาม ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ก็ใช้วิธีนี้อยู่หลายครั้ง เช่นในปี 2560 ขณะนั้น แม้ ธปท. ไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลงมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ หากธนาคารพาณิชย์ยังไม่ลดลงตาม ก็อาจเห็น ธปท. ใช้วิธีดังกล่าวได้เช่นกัน

“ถ้ามองภาพเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ต้องหาวิธีที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ในราคาที่ถูก เพื่อจะสร้างความเป็นธรรมที่มากขึ้น แต่แน่นอนว่าดอกเบี้ยหากจะให้เท่ากับรายใหญ่เลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้”

“กำพล อดิเรกสมบัติ” ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธุรกิจ(อีไอซี) ระบุว่า สถานการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงที่เกิดภาวะเจเคิร์ฟ(ภาวะที่ดอกเบี้ยระยะสั้นต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย) ซึ่งขณะนั้น แม้ ธปท. จะไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ใช้วิธีลดวงเงินการออกประมูลพันธบัตร ทำให้บอนด์ยิลด์ลดต่ำลง ในขณะที่ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ลดตาม ทำให้เกิดความลักลั่นกันบ้างระหว่างผู้กู้ยืมในตลาดเงินกับธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหล่านี้ คือ สิ่งที่ ธปท. กังวล เพราะจะเห็นว่าการลดวงเงินประมูลพันธบัตรรอบที่ผ่านมา ธปท. พยายามจะไม่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น

กำพล มองว่า การจะลดความลักลั่นหรือความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจลงได้ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอาจเข้ามาช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ได้ เพราะแบงก์รัฐไม่ได้คำนึงถึงเรื่องกำไรเป็นเป้าหมายหลัก แต่อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถเข้าไปช่วยได้อย่างเต็มที่นัก เพราะอย่างน้อยแบงก์รัฐก็ต้องระวังไม่ให้เกิดผลขาดทุน ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างปัญหาและเป็นภาระกับผู้เสียภาษีได้เช่นกัน

ความเหลื่อมล้ำในภาคการเงิน ซึ่งเป็น “ผลข้างเคียง” จากการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ถือเป็นโจทย์ที่ ธปท. ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรไม่ให้นโยบายการเงินไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ แม้เรื่องนี้จะเป็น “โจทย์ยาก” แต่เป็น เรื่องที่ ธปท. ต้องคิด!