“คุณแม่นักวิจัย ใครว่ายาก!”

“คุณแม่นักวิจัย ใครว่ายาก!”

เนื่องในวันที่ 12 สิงหาคม เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ที่ทุกคนรู้ดีว่า หน้าที่ของความเป็นแม่ ยิ่งใหญ่เพียงใด วันนี้ จึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย “คุณแม่นักวิจัย" ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติที่จัดสรรปันเวลาชีวิต ดูแลงานวิจัยและดูแลลูกๆ

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ด้านวิจัยและพัฒนา) ที่ต้องรับผิดชอบดูแลงานบริหารด้วยตำแหน่งของรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่ต้องดูแลนักวิจัย ทีมวิจัย รวมถึงงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งความท้าทายมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเทคนิค การบริหารจัดการทีมวิจัยที่ต้องทำงานวิจัยด้านต่างๆ และการจัดสรรคนให้ตรงกับหน้าที่ ความสามารถ และโจทย์ความต้องการของนาโนเทค รวมถึงความคาดหวังจาก สวทช. สังคม และประเทศ

          “การแบ่งเวลาเพื่อทำหน้าที่ของผู้บริหาร ไปพร้อมกับความเป็นแม่นั้น คือ เราเต็มร้อยกับทุกสิ่งที่ทำ เมื่ออยู่ในเวลางาน เราทุ่ม 100% ให้กับงาน แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าบ้าน เราก็เป็นคุณแม่ 100% เช่นกัน หยุดงานทุกอย่าง แล้วอยู่กับลูก”

          ดร.อุรชาในฐานะแม่ จะตื่นแต่เช้ามืด ทำกับข้าวให้ลูก ทั้งอาหารเช้าที่รสดีและสารอาหารครบถ้วน รวมถึงทำกล่องข้าวกลางวัน ที่ตกแต่งสวยงาม จนลูกๆ ออกปากว่า ภูมิใจทุกครั้งที่เปิดกล่องข้าวขึ้นมา

          ทั้งการทำงานและความเป็นแม่ ดร.อุรชามองว่า ใช้ทักษะเดียวกัน เพราะในแง่ของงาน เธอออกแบบและวางแผนการทำงานตั้งแต่ก่อนเริ่ม การทำกับข้าว หรือพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งขี่ม้า หรือว่ายน้ำ คุณแม่ก็ต้องวางแผนการเตรียมส่วนผสม หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นๆ

          ในขณะเดียวกัน ทักษะในการพูดคุยกับลูกสาว และลูกชายนั้น คนเป็นแม่ก็ต้องมีวิธีที่แตกต่างกัน และคุณแม่อุรชาก็นำมาปรับใช้เพื่อพูดคุยกับนักวิจัยที่มีทั้งชายและหญิง ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารที่มีรูปแบบต่างกัน

          “เราเริ่มต้นการทำงานในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว และความเป็นแม่ เรียกว่า ทั้ง 2 หน้าที่รับผิดชอบนี้ เติบโตไปพร้อมๆ กัน และพูดได้เต็มปากว่า มีวันนี้ได้เพราะครอบครัว แม้ปัจจุบัน หลายคนเลือกที่จะครองตัวเป็นโสด หรือไม่มีลูก เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เรามองว่า ครอบครัวหรือลูกนั้น จะเป็นแรงบันดาลใจ และแรงผลักดันที่สำคัญ ให้เราสามารถก้าวสู่จุดที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จ ได้เช่นกัน”

          ดร.อุรชายอมรับว่า มันไม่ง่าย เพราะกว่าจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น ก็มีความขลุกขลัก ไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ทุกอย่าง เป็นบทเรียนสำคัญเมื่อก้าวผ่านมาได้ เหมือนที่ตนเคยคิดจะออกไปทำหน้าที่คุณแม่เต็มตัว แต่ความผูกพันกับนาโนเทคก็มากจนตัดสินใจที่จะอยู่ทำงานที่ตนรักต่อไป

          เทคนิคการเลี้ยงลูก คุณแม่อุรชาแย้มมาว่า เลี้ยงลูกด้วย RICE ที่ไม่ใช่ข้าว แต่เป็น R (self-Respect) การสอนให้ลูกเคารพตัวเอง, I (self-Interest) ต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร, C (self-Control) รู้จักควบคุมตนเอง รู้ว่าอะไรถูก ผิด และ E (self-Educated) คือต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้

          ความทุ่มเทเต็มร้อยทั้งการเป็นผู้บริหารศูนย์นาโนเทคและคุณแม่ ทำให้ลูกสาวและลูกชายที่เห็นทั้ง 2 บทบาท มองดร.อุรชาเป็น “ไอดอล” จนฝันที่จะโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ให้เหมือนกับที่คุณแม่ของพวกเขาเป็น