พิพาทการค้าสหรัฐ-จีนลามธุรกิจการศึกษา

พิพาทการค้าสหรัฐ-จีนลามธุรกิจการศึกษา

การเข้มงวดด้านการออกวีซ่าของรัฐบาลสหรัฐส่งสัญญาณไปยังบรรดานักศึกษาจีนว่ามหาวิทยาลัยอเมริกันไม่ต้อนรับชาวจีน

ด้วยความอยากมีประสบการณ์เรียนต่อในอเมริกา วิเวียน สาวชาวจีนวัย 19 ปี จึงรีบขึ้นรถไฟ4ชั่วโมงจากภาคกลางของจีนไปกวางโจว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อขอวีซ่าที่สถานกงสุลสหรัฐซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุด แต่กลายเป็นว่า แผนการของเธอไม่ราบรื่นอย่างที่คิด

วิเวียน รื้อฟื้นความทรงจำในวันนั้นให้ฟังว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่ที่สถานกงสุลถามว่าเธอลงเรียนวิชาเอกอะไร ซึ่งเธอคิดว่าในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ควรจะตรวจสอบประวัติของเธอมากกว่า โดยวิเวียนได้ไปเรียนช่วงซัมเมอร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมของโลก ซึ่งการที่เป็นนักศึกษาจากจีน ทำให้การเลือกลงเรียนวิชาเอกอะไร เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวิชาเอกวิศวกรรมอากาศยาน ทำให้เธอถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในช่วงของการสัมภาษณ์

“การเป็นนักเรียนจากจีนทำให้เราถูกสัมภาษณ์ในเรื่องต่างๆมากขึ้น แต่นี่เป็นครั้งแรกที่การลงเรียนในช่วงซัมเมอร์ ต้องถูกสัมภาษณ์และตรวจสอบยาวนานด้วยเหมือนกัน ฉันไม่ได้สมัครลงเรียนคณะวิศวกรรมอากาศยานเสียหน่อย ฉันแค่ลงเรียนคอมพิวเตอร์สองเดือนในสหรัฐเท่านั้น” วิเวียน กล่าว

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อขอวีซ่าประมาณ1 เดือน วิเวียนก็ได้จดหมายรับรองจากมหาวิทยาลัยที่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์จนกว่าสถานกงสุลจะออกวีซ่าให้เธอ ถือว่าเป็นอยู่ในกลุ่มชาวจีนที่โชคดี เพราะหนึ่งในเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกับเธอ ซึ่งวางแผนไปศึกษาเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ ถูกปฏิเสธวีซ่า

เดวิด อู๋ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกับที่วิเวียนจะไปเรียนคอมพิวเตอร์คอร์สสั้นๆ กล่าวว่า แม้ไม่ได้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ให้การต้อนรับ เพียงแต่รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเมื่อต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ และคนทั่วไปในสหรัฐมักทำให้ตัวเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ต้องสงสัย"

นักศึกษาความจีนกว่า 360,000 คนสมัครเรียนตามวิทยาลับในสหรัฐในช่วงปีการศึกษา 2560-2561 เพิ่มขึ้นจากช่วง10ปีที่แล้วที่มีอยู่เพียง 100,000 คน ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ รวมทั้งวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่รับพวกเขาเข้าเรียน กำลังเจอปัญหาหนักใจที่เป็นผลพวงจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐคุมเข้มด้านการออกวีซ่าและดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสองประเทศ ขณะเดียวกัน ข้อกล่าวหาต่างๆที่ว่านักศึกษาจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา หรือเป็นสายลับปลอมตัวเข้ามาล้วงความลับก็ทำให้บรรยากาศในแวดวงการศึกษาอเมริกันที่มีนักศึกษาชาวจีนเรียนอยู่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

“การเข้มงวดด้านการออกวีซ่าของรัฐบาลสหรัฐส่งสัญญาณไปยังบรรดานักศึกษาจีนว่ามหาวิทยาลัยอเมริกันไม่ต้อนรับพวกเรา มันทำให้ฉันรู้สึกแย่ เหมือนถูกใครบางคนปิดประตูใส่หน้า”ลาเวนเดอร์ เจียง ชาวจีนวัย 20 ปีซึ่งเข้ามาศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในพิตส์เบิร์ก กล่าว

บรรดาพ่อแม่ชาวจีนนั้น เป็นที่รู้กันดีกว่าให้ความสำคัญกับการศึกษามาก แต่การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วง2ทศวรรษเปิดโอกาสให้บรรดาพ่อแม่ชาวจีนส่งลูกหลานไปเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างสบายขณะที่ผลศึกษาปี2558 ของหูหรุน ระุบว่า บรรดามหาเศรษฐีจีนตั้งใจที่จะลงทุนด้านการศึกษาแก่บุตรหลานในสัดส่วนมากถึงหนึ่งในสี่ของการใช้จ่ายรายปีของพวกเขา และในปี 2560 นักเรียนชาวจีนกว่า 600,000 คนเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ไปศึกษาด้านธุรกิจ วิศวกรรม คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆทั่วโลก พร้อมใจกันอ้าแขนรับนักศึกษาจากจีน โดยทุ่มเทงบประมาณเพื่อจัดงานเอ็กซ์โปด้านการศึกษา ทำแคมเปญด้านการตลาดเพื่อดึงดูดนักศึกษาจากจีนเข้ามาศึกษาที่สถาบันของตัวเอง รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับบรรดาสถาบันการศึกษาจีน

นักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปศึกษาระดับปริญญาตรีในสหรัฐใช้ต้นทุนโดยเฉลี่ย 37,000 ดอลลาร์ นี่คือต้นทุนเฉพาะค่าเทอมอย่างเดียวและเป็นวิทยาลัยของรัฐ และหากเป็นมหาวิทยาลัยของเอกชน จะต้องเสียค่าเทอมโดยเฉลี่ยเป็นเงินกว่า 48,000 ดอลลาร์ถือเป็นค่าเทอมที่แพงที่สุดในโลก แต่สหรัฐก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักศึกษาจีน เพราะชาวจีนยกย่องว่าการศึกษาของสหรัฐดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีสินค้าที่นักศึกษาจีนต้องซื้อให้ได้ ส่วนจีนก็มีนักศึกษาจำนวนมากที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อแลกกับวิชาความรู้ที่จะได้รับ แต่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่ ประกอบกับรัฐบาลบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คุมเข้มการทำธุรกิจของบริษัทจีนและพลเมืองจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามการค้าระหว่างกัน

เมื่อปี2561 รัฐบาลสหรัฐตัดทอนระยะเวลาวีซ่าสำหรับนักศึกษาชาวจีนที่เรียนด้านการบิน หุ่นยนต์และการผลิตขั้นก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมจาก5ปีเหลือแค่ปีเดียว โดยอ้างเรื่องความเสี่ยงว่านักศึกษาเหล่านี้จะเข้ามาจารกรรมข้อมูลและขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐ ก็เตือนบรรดามหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้ระมัดระวังว่าจะมีสายลับปลอมตัวเป็นนักศึกษา หรือนักวิจัยเข้ามาปฏิบัติการล้วงความลับของราชการ พร้อมทั้งเรียกร้องให้บรรดานักวิชาการและผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้

แต่มหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐ พยายามวางตัวให้ห่างจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งเช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ มหาวิทยาลัยเยล และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนักศึกษาชาวจีนพร้อมทั้งเสนอให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้น บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยยังคงเต็มไปด้วยความวิตกกังวลของนักศึกษาและนักวิจัยชาวจีน

“ผมไม่ได้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ชอบเรา ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐส่วนใหญ่ค่อนข้างมีอิสระ เสรีภาพและต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้งานวิจัยเรื่องต่างๆรุดหน้า”เดวิด อู๋ นักศึกษาประดับปริญญาเอก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงาน กล่าว

ในแต่ละปี นักศึกษาต่างประเทศทำรายได้ให้แก่ภาคการศึกษาของสหรัฐเป็นเงิน 39,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบัน ภาคการศึกษาถือเป็นธุรกิจภาคการบริการใหญ่ที่สุดอันดับ5ของสหรัฐ ทั้งยังมีมหาวิทยาลัยบางแห่งที่พึ่งพารายได้จากนักศึกษาต่างชาติเป็นหลัก

ด้านอีซี ทรานสเฟอร์ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ระบุว่า นักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศในยุคนี้ไม่เลือกไปเรียนต่อในสหรัฐแล้ว โดยหนึ่งในเหตุผลหลักคือสงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่รุนแรงและยืดเยื้อไม่จบสิ้น โดยในปี2558ปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินของนักศึกษาจีนไปสหรัฐมีสัดส่วน 95% บนแพลตฟอร์มแต่ในปี 2562 พบว่าปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินของนักศึกษาจีนไปสหรัฐมีแค่ 50% เท่านั้นบนแพลตฟอร์ม

อีไอซี เอดูเคชัน บริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษาของจีน เปิดเผยในรายงานการศึกษาต่อของนักศึกษาจีนในปี 2562 ว่า ประเทศที่นักศึกษาจีนสนใจไปเรียนต่อคือสหราชอาณาจักร คิดเป็น 20.14% ในขณะที่อยากไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริการองลงมาคือ 17.05% เท่านั้น

นอกจากนั้น มีประเทศอื่นๆ ที่ติดอยู่ในอันดับยอดนิยม โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลัก เช่น แคนาดา และออสเตรเลีย ส่วนประเทศที่นักศึกษาจีนสนใจในยุโรปได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วนในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้