‘เมดิคัล แฟร์ ไทยแลนด์’ ปีนี้พิเศษเปิดพื้นที่สตาร์ทอัพสุขภาพ

‘เมดิคัล แฟร์ ไทยแลนด์’ ปีนี้พิเศษเปิดพื้นที่สตาร์ทอัพสุขภาพ

เมสเซ่ฯกำหนดจัดงาน “เมดิคัล แฟร์” กลางเดือน ก.ย.นี้ ระดมโชว์สินค้า นวัตกรรมด้านการแพทย์ พร้อมเปิดพื้นที่ใหม่หนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเสาะหาคู่ค้ารายใหม่ คาด 3 วันผู้ประกอบการเข้าชมงาน 1.2 หมื่นคนจากในประเทศและทั่วทั้งภูมิภาค

นางสาวแดฟนี่ โยว ผู้จัดการโครงการอาวุโสบริษัทเมสเซ่ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยถึง “เมดิคัล แฟร์ ไทยแลนด์” งานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพว่า ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.นี้ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 ในไทย โดยได้รับรูปแบบการจัดงานมาจากงานเมดิคอลแฟร์เอเชีย ภายในงานมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 1,000 บริษัทจาก 60 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าชมงาน 1.2 หมื่นคนจากในประเทศและทั่วทั้งภูมิภาค


ในปีนี้ได้เปิด 2 โซนนิทรรศการใหม่คือ โซนศาลานิทรรศการการดูแลสุขภาพในระดับชุมชน เน้นเทคโนโลยีด้านการติดตามดูแลสุขภาพระยะไกล เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูสมรรถภาพและเครื่องช่วยต่างๆ ถัดมาเป็นโซน “สตาร์ทอัพพาร์ค” สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นทำธุรกิจอยู่ในระยะที่ 3 และ 4 หรืออายุกิจการต่ำกว่า 4 ปี และต้องการหาลูกค้ารายแรกสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน


สตาร์ทอัพพาร์ค ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 9 แห่งจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ได้นำสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาจัดแสดง อาทิ แพลตฟอร์มเชิงแนวคิดสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล ที่ต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพและสามารถสั่งจองบริการต่างๆ แอพพลิเคชั่นบนมือถือสำหรับการจดจำอาหารเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายรับเข้าไป และการทดสอบหามะเร็งในช่องปาก เป็นต้น


“บริษัทมีแนวคิดการเปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ในงานเมดิคัล แฟร์ เอเชีย ที่สิงคโปร์ และได้รับการตอบรับอย่างดี จึงถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบต่อมาในงานเมดิก้า ซึ่งเป็นนิทรรศการทางการแพทย์ที่ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในเยอรมนี ทำให้สตาร์ทอัพการแพทย์ได้มาพบกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนวัตกรในวงการ รวมถึงยังได้พบกับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจการแพทย์โดยตรง ซึ่งต่างจากนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าธุรกิจการแพทย์มีความละเอียดอ่อนมาก และอาจได้ผลตอบแทนช้ากว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่น ถือเป็นการเริ่มสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ทอัพการแพทย์ได้เป็นอย่างดี" นางสาวแดฟนี่ กล่าว


ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตด้วยอัตรา 8.5-10% ต่อปี (ปี 2559-2562) ซึ่งมากกว่าอัตราเฉลี่ยโลก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในไทย การขยายสาขาของสถาบันการแพทย์ชั้นนำ อีกทั้งนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัล ฮับ) นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีนำเสนอผลงานและเวทีอภิปรายด้านสุขภาพ โดยมีหัวข้อตั้งแต่ภาพรวมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ การขยายตัวของเครือข่ายในภูมิภาคนี้ การจัดการความรู้ด้านสุขภาพและการพยาบาลสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บทบาทของผู้หญิงในงานทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และการประชุมทางวิชาการเรื่อง WT I Wearable Technologies เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.medicalfair-thailand.com