'อนาคตใหม่' ซัดวิธีกระตุ้นศก. ของรบ.ย้อนยุคหลัง สงครามเย็น

'อนาคตใหม่' ซัดวิธีกระตุ้นศก. ของรบ.ย้อนยุคหลัง สงครามเย็น

“อนาคตใหม่” ซัดวิธีกระตุ้นศก. ของรบ.  ย้อนยุค หลัง “สงครามเย็น” ชี้ “ไทย” ขาด “เทคโนโลยี-องค์ความรู้” ไม่ใช่เงินทุน เล็งรื้อ “กม.แข่งขันการค้า” แก้ทุนผูกขาด รับขายหน้า กู้เงิน “ธนาธร” ลุยเลือกตั้ง 

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.62 เวลา 09.00 น. ที่อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ มีการบรรยายสาธารณะความจริงประเทศไทย หัวข้อ “ทุนผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม” โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ตอนหนึ่งว่า การผูกขาดคือการมีอำนาจเหนือตลาด ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาสินค้า หรือกดราคาได้ เช่นในบางธุรกิจใหญ่ในประเทศไทย รวมถึงพฤติกรรมการฮั้วของผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ไม่มีใครปกป้องในการต้องสู้กับทุนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม การจะไต่ข้ามชนชั้นได้นั้นต้องใช้เวลากี่ชั่วอายุคน แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาตรงนี้ เพราะข้อมูลมีจำกัด แต่ประเทศนอร์เวย์ หรือเดนมาร์ก คนที่อยู่ในชนชั้นที่มีรายได้ต่ำสุด ใช้เวลา 2ชั่วอายุคน ถึงสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้ ส่วนประเทศโคลัมเบียต้องใช้เวลาถึง 10 ชั่วอายุคน 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า การจัดอันดับเศรษฐีในประเทศไทย 20-30 ปีที่ผ่านมาเป็นคนหน้าเดิม มีหน้าใหม่บ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากธุรกิจพลังงานที่ได้ประโยชน์จากสัมปทานรัฐ ทำให้มีอำนาจเหนือตลาด มีเงินทุนสะสมสร้างธุรกิจให้ใหญ่โต อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมีกฎหมายช่วยให้การแข่งขันเกิดความเป็นธรรม คอยกำกับดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด การฮั้วกันต้องถูกจับกุม แต่ในประเทศไทยรู้สึกว่าใครๆ ก็ทำกัน บริษัทน้ำมันทำแน่ ไม่เช่นนั้นราคาน้ำมันจะเท่ากันแบบนี้หรือ และในต่างประเทศ กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายใดก็ตามที่เปิดโปงหรือรับสารภาพกับรัฐว่ามีพฤติกรรมฮั้วนั้นไม่ต้องรับผิด ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในการป้องกันการฮั้ว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ประเทศไทย มีพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ตั้งแต่ปี 2542 ถือว่าก้าวหน้าอย่างมากในขณะนั้น เพราะเป็นประเทศแรกในอาเซียน แต่10ปี ผ่านไปหลังกฎหมายบังคับใช้ มีเรื่องร้องเรียนกว่า 100 กรณี แต่ไม่มีใครได้รับผิดจากกฎหมายนี้เลย นั่นแสดงว่าประเทศไทยไม่มีการผูกขาดอย่างนั้นหรือ กระทั่งเมื่อปี 60 มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ เว้นแต่บางกรณี เช่น การบริการสาธารณะ และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่งถูกตัดสินและถูกปรับไป 12 ล้านบาท จากการกีดกันคู่แข่ง “การแข่งขันที่เป็นธรรม คือการคุ้มครองผู้บริโภค” 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ส่วนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ระบุว่ารัฐบาลทุ่มเม็ดเงินในโครงสร้างพื้นฐาน และมันจะไหลลงไปสู่ระดับรากหญ้า หรือกระตุ้นเข้าไปเดี๋ยวจีดีพีจะเติบโต ทุกภาคส่วนจะได้ส่วนแบ่งเอง ตรงนี้เป็นวิธีคิดแบบหลังสงครามเย็น คือ 1.ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา 2.กระตุ้นจีดีพี และ3.ทำกฎระเบียบเอื้อให้ภาคธุรกิจเกิดความสะดวก อย่างไรก็ตาม การดึงดูดนักลงทุนนั้น เป็นเหตุผลที่เกมาะกับสถานการณ์เมื่อ40ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยไม่มีเงินลงทุน แต่วันนี้เปลี่ยนไปมาก เราไม่ได้ขาดแคลนเงินลงทุน เพียงแต่เอกชนไทยขณะนี้ไม่นำเงินสะสมออกมาลงทุน เลือกจะเก็บแทน ดังนั้น วันนี้เราไม่ได้ขาดเรื่องนั้น แต่เราขาดเทคโนโลยี องค์ความรู้ แล้วที่พูดว่า จะเอาอาลีบาบา, หัวเว่ย เข้ามา ช่วยบอกหน่อยว่า เทคโนโลยีอะไรที่เขาจะถ่ายทอดให้เราบ้าง นอกจากนั้น ปีที่แล้วจีดีพีโตประมาณ 4% แต่เศรษฐกิจฐานรากก็ไม่ดีขึ้น ราคายาง ปาล์ม ตอนนี้เหลือเท่าไหร่ การที่เศรษฐกิจดีต้องดูที่คนส่วนใหญ่ในประเทศว่าเป็นอย่างไร 

“เมื่อเค้กใหญ่ขึ้นแล้วทุกคนจะได้รับเอง ใช้ได้กับประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ แต่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้มาก เพราะไม่ได้ดีอย่างที่เขาพูด ซึ่งถ้าได้ไปนั่งในกรรมาธิการ อนาคตใหม่จะเข้าไปดูเรื่องพวกนี้แน่นอน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ เริ่มแก้ปัญหาเหล่านี้แล้วตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านตอนนี้ พรรคมีชุดนโยบาย มีแนวคิดแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพราะเราไม่มีนายทุนหนุนหลัง ไม่ต้องทดแทนบุญคุณใคร ที่ผ่านมายอมรับว่าเราก็คิดเยอะถึงแหล่งที่มาของเงิน จึงกู้หนี้ยืมสินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็อายเหมือนกัน แต่กกต.ไม่ได้ให้ทางเลือกมากนัก เลยต้องทำแบบนั้น