เปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคบรรเทา‘วิกฤติอาหาร’

เปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคบรรเทา‘วิกฤติอาหาร’

ทุกคนมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค คณะทำงานพิเศษของยูเอ็นแนะว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นหนึ่งในวิธีการที่ชาวโลกทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ง่ายที่สุด เพื่อการอนุรักษ์โลกและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ออกรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) ระบุว่า รูปแบบการบริโภคและอุปโภคของมนุษย์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น กลายเป็นการทำลายพื้นดินและผืนน้ำอย่างชัดเจน เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องใช้และแปรรูปทรัพยากรมากขึ้นเพื่อการดำรงชีวิต

แม้รายงานของไอพีซีซีไม่ได้ระบุว่ามนุษย์ต้องเลิกการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างถาวร แต่ใช้คำว่าการบริโภคอาหารโดยเพิ่มสัดส่วนของผัก ผลไม้และธัญพืช จะช่วยรักษาพื้นที่การเกษตรที่รวมถึงป่าได้อีกหลายล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี 2593

“จนกว่าถึงช่วงเวลานั้นจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยมากถึงปีละ 0.7 ถึง 0.8 กิกะตัน (1 กิกะตันเท่ากับ 1,000 ล้านตัน) เนื่องจากอุณหภูมิบริเวณผิวดินเพิ่มขึ้นมากถึง 1.53 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกินกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นมากเกือบ 2 เท่า คือ 0.87 องศาเซลเซียส”

รายงานของไอพีซีซีระบุด้วยว่า ภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกสร้างความแปรปรวนอย่างหนักให้กับห่วงโซ่อาหารโลก จึงสรุปว่าหากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความมั่นคงด้านอาหารจะลดลง โดยราคาอาหารพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้นถึง 7.6% ภายในปี 2593

ปัจจุบัน ประชากรโลก 2,000 ล้านคนมีภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประชากรโลก 821 ล้านคนกำลังล้มป่วยด้วยภาวะทุพโภชนาการ

ไอพีซีซีเผยว่า ตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในภาคพื้นดินได้เพิ่มสูงขึ้น 1.53 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่วัดจากทั้งผืนดิน อากาศและมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น 0.87 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ผืนดินกลายเป็นทะเลทราย และความอุดมสมบูรณ์ของดินถดถอย

ด้านคริสตอฟ ติเอส ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้และสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเยอรมนี กล่าวว่าการปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า ประกอบกับการปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่การบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงนั้น คือการช่วยกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ยังคงมีหวัง เพื่อทั้งสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

“ผืนดินและความหลากหลายทางชีวภาพกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันอันใหญ่หลวง ดังเช่นที่เราเห็นจากไฟป่าที่รุนแรงของไซบีเรีย เราจำเป็นต้องเลือกลงมือในทางเลือกที่แม้จะยาก เพราะเราไม่อาจใช้ผืนดินต่อไปหากสิ้นความสมบูรณ์ไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังใช้ผืนดินจนเกินขีดจำกัด” ติเอสเผย และว่า“ในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงโลก เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มมาตรการเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ตามคำแนะนำของรายงานไอพีซีซี”

รายงานพิเศษของไอพีซีซีในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผืนดินนี้ ได้เตือนว่า กว่า 1 ใน 4 ของผืนดินนั้น “เสื่อมสภาพเนื่องจากการกระทำของมนุษย์” แต่ยังมีวิธีการแก้ไขหลายทางเลือกเพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพ ซึ่งยังเป็นวิธีที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี)

นอกจากนี้ รายงานไอพีซีซีเผยว่า พลังงานชีวภาพหรือ การผลิตพลังงานชีวภาพควบคู่กับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน (บีอีซีซีเอส) คือปัจจัยที่คุกคามความมั่นคงด้านอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ไอพีซีซี ยังพบว่า 23% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ เกิดจากการทำลายป่า การเผาไหม้ และเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม แต่ผืนดินนั้นสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ การใช้งานผืนดินที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้ และการผ่อนผันการยุติการใช้พลังงานฟอสซิลและผลักภาระให้กับผืนดินนั้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับการเกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร

ขณะเดียวกัน ไอพีซีซีชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ทั้งจากการผลิตและการบริโภค มีปริมาณมากถีง 37% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด