รู้เท่าทัน 'โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน'

รู้เท่าทัน 'โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน'

สถาบันโรคผิวหนังชี้ โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย แต่ไม่ติดต่อด้วยการสัมผัส ดังนั้นการดูแลตนเองและรักษาภายใต้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะช่วยลดการกำเริบของโรคได้

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงของโรคไม่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ ก่อความรำคาญ รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีผลต่อจิตใจ ความมั่นใจและบุคลิกภาพของผู้ป่วย เช่นโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือ “เซ็บเดิม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย แม้ไม่เป็นโรคติดต่อแต่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเพื่อควบคุมโรคและรักษาที่ตรงจุด ป้องกัน และลดข้อแทรกซ้อนจากยา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเองเพื่อลดการเห่อ หรือกำเริบของโรค หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แสงแดด พักผ่อนไม่เพียงพอ และควรล้างหน้าด้วยสบู่ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิว หมั่นทาครีมบำรุง ดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ใช้เครื่องสำอางชนิดที่เหมาะกับผิวแพ้ง่าย

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน อาการมักเกิดบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ ไรผม ข้างจมูก คิ้ว หน้าอก โดยจะมีลักษณะเป็นขุยสีเหลือง มันวาว มีผื่นแดง พบได้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เด็กทารกในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด โดยพบสะเก็ดหนาสีเหลือง เป็นมันติดแน่นเป็นแผ่น ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนที่แม่ถ่ายทอดไปยังลูก แต่หายได้เอง สำหรับผู้ใหญ่อาการที่เป็นจะเป็นๆ หายๆ ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น หน้าหนาวผื่นจะกำเริบได้บ่อยกว่า และอาจดีขึ้นในหน้าร้อนผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยโรคเอดส์ อาจจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยต่างๆ มีผลต่อการเกิดโรค เช่น ฮอร์โมนการติดเชื้อราบางชนิดยาบางอย่าง ขาดสารอาหาร การถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามในเด็กทารกส่วนมากจะหายได้เอง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง หรือมีการอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะให้ใช้ยาสเตียรอยด์ร่วมกับการทาครีมบำรุงผิว สำหรับผู้ใหญ่ผื่นจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ การรักษาจะเน้นที่การควบคุมโรคมากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด เช่นใช้ยาสระผมที่ช่วยลดรังแค ขุยที่หนังศีรษะส่วนบริเวณที่เกิดผื่นหนาอักเสบมากอาจทายาสเตียรอยด์ร่วมด้วย ผื่นแพ้ต่อมไขมัน ที่ใบหน้า ข้างจมูก คิ้ว แนะนำให้ใช้ยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนังภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง

                          รู้เท่าทัน \'โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน\'