หัวเว่ยแนะไทยเร่งดัน “ไอโอที” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หัวเว่ยแนะไทยเร่งดัน “ไอโอที” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“หัวเว่ย” ผนึกภาครัฐของไทยเผยผลศึกษาสมุดปกขาวแนะไทยใช้ “ไอโอที” หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล หลังทั่วโลกตื่นตัว เอเชีย ขึ้นผู้นำใช้ไอโอทีสูงสุด ส่งแพลตฟอร์ม “โอเชี่ยนคอนเนค”หนุนไอโอทีต่อยอดบริการอัจฉริยะรับการมาของ 5จี

“หัวเว่ย” ผนึกภาครัฐของไทยเผยผลศึกษาสมุดปกขาวแนะไทยใช้ “ไอโอที” หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล หลังทั่วโลกตื่นตัว เอเชีย ขึ้นผู้นำใช้ไอโอทีสูงสุด ส่งแพลตฟอร์ม “โอเชี่ยนคอนเนค”หนุนไอโอทีต่อยอดบริการอัจฉริยะรับการมาของ 5จี ด้าน “ดีป้า” เผยยอดใช้ไอโอทีในไทย​แค่​ 30% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ขณะที่ ตัวเลขไอโอทีทั่วโลกโตก้าวกระโดด คาดปี 68 เชื่อมต่อมากถึง 2.5 หมื่นล้านจุด เผยปัญหาความบาดหมางสหรัฐไม่ส่งผลกระทบ อ้างผลประกอบการครึ่งปีแรกยังโต 23% ลุยลงทุนทั่วโลกแสนล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

“หัวเว่ย” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทยทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม หรือดีอี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยรายงานสมุดปกขาวเรื่อง อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอทีของไทย ชี้เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ขณะที่การมาของเทคโนโลยี 5จี จะหนุนให้การเชื่อมต่อไอโอทีเร็วขึ้น ต่อยอดบริการสู่ความเป็นอัจฉริยะ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทอินดัสทรี่ และสมาร์ทไลฟ์ ขณะที่ให้คำมั่นยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง

แนะไทยใช้ไอโอทีขับเคลื่อนศก.

นายเอเบล เติ้ง ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัลทำให้โลกและชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หัวเว่ยมีส่วนช่วยผลักดันอีโคซิสเต็มส์ และการพัฒนาไอโอทีในไทยผ่านการสนับสนุนพันธมิตรผู้พัฒนาระบบ หรือเอสไอ (SI) รวมถึงผสานความร่วมมือกับพันธมิตรไอโอทีทั้งในและต่างประเทศ และนำกรณีใช้งานจากต่างประเทศมาใช้ในไทยให้มากขึ้น

"เราเปิดตัวแพลตฟอร์มไอโอที โอเชี่ยน คอนเนค (OceanConnect) สำหรับลูกค้าในไทย ช่วยให้บริษัทพันธมิตรผู้พัฒนาระบบในประเทศพัฒนาไอโอที และนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถต่อยอดพัฒนาแอพพลิเคชั่นใช้ได้ทุกภาคส่วน​ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทซิตี้ สมาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง หรือต่อยอดเป็นโซลูชั่นด้านความปลอดภัย​ ลดการจารกรรมรถ​ ตลอดจนสาธารณูป​โภคพื้นฐาน​เพื่อยกระดับสู่ดิจิทัลได้" นายเติ้ง กล่าว

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ปัจจุบันมีแค่ 30% ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือประมาณ 5 แสนบริษัทที่นำไอไอทีไปใช้งานในเชิงธุรกิจ โดยกลุ่มที่จะใช้มากที่สุดอยู่ใน ภาคการเกษตร ผลิต และบริการ

ขณะที่ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ไอโอที จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะมาช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อีกทั้งยังช่วยเร่งให้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยเกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งด้านสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทอินดัสทรี่ และสมาร์ทไลฟ์ โดยเชื่อว่าไอโอทีจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของเรา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย

โชว์รายงาน“ไอโอที”ทั่วโลกรายได้พุ่ง

ทั้งนี้ หัวเว่ยได้เปิดเผยสมุดปกขาวเรื่องไอโอที โดยอ้างอิงข้อมูลของจีเอสเอ็มเอ อินเทลลิเจนซ์ เมื่อเดือน พ.ค.62 ว่า มีเครือข่ายโมบายไอโอที ที่เปิดใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วทั้งสิ้น 114 เครือข่ายทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีนี้ และเป็นตลาดไอโอทีระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามด้วย สหรัฐอเมริกา และยุโรป และจะมีจำนวนการเชื่อมต่อไอโอทีมากที่สุดในราวปี 2568 จากการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้สูงที่สุดถึงราว 3.86 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้จากไอโอทีทั่วโลกจะสูงเป็นสี่เท่าถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568 จากการส่งเสริมของรัฐบาลและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการเชื่อมต่อไอโอทีในภาคอุตสาหกรรม ส่วนการเชื่อมต่อไอโอทีทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึง 2.5 หมื่นล้านจุดในปี 2568 และมีตัวอย่างการใช้งานหรือยูสเคสของเทคโนโลยีเอ็นบี-ไอโอที 50 รูปแบบใน 40 อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยจีนเป็นประเทศที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก

ส่วนแนวโน้มไอโอทีในไทย ปัจจุบันมี บมจ.แอดวานซ์ อิินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ให้บริการไอโอทีโดยใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ครอบคลุมทั่วทั้ง 77 จังหวัดในไทย และทรู คอร์ปอเรชั่นเปิดให้บริการไอโอทีทั่วประเทศเช่นกัน โดยได้ทดสอบการใช้งานบางรูปแบบ เช่น การติดตามเด็ก ผู้สูงอายุ มิเตอร์วัดน้ำอัจฉริยะ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและสภาพร่างกายของวัว และยังมีตัวอย่างการใช้งานที่เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น การติดตามรถ ที่จอดรถอัจฉริยะ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมพัฒนาสร้างเมืองอัจฉริยะให้ได้ตามเป้าหมาย 30 เมืองใน 24 จังหวัดในราวปี 2563 และพลิกโฉมเมืองอีก 100 แห่งทั่วประเทศให้เป็นเมืองอัจฉริยะในปี 2565 โดยในปี 2562 จะมีการเชื่อมต่อไอโอที 8 ล้านจุด และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15 ล้านจุดในปี 2565 โดยจะถูกใช้ในกลุุ่ม “Connected Energy” พัฒนามาจากการอ่านสมาร์ทมิเตอร์แบบเดิมเป็นหลัก และจะเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อที่ใช้กันโดยส่วนใหญ่ ตามมาด้วย Connected Car และ Connected Industry

"เราหวังเห็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอโอทีในไทยผ่านการทำงานร่วมมือกันที่มากขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลและประเทศไทย 4.0 ให้รุดไปข้างหน้า” นายเติ้ง กล่าว

เดินหน้าลงทุน 5จีในไทยต่อ

ผู้บริหารหัวเว่ย ยังได้กล่าวถึงประเด็นข้อพิพาทกับทางสหรัฐด้วยว่า ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยดูจากผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ยังเติบโต​ 23% ขณะที่ 5จี ยังเดินหน้าส่งมอบอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดขายมือถือยังเพิ่มขึ้น

"ในส่วนของ 5 จีในไทยหัวเว่ย ยังมีความร่วมมือ​กับภาครัฐ เช่น​ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี​ รวมถึง จุฬาฯ ​ซึ่งหัวเว่ยเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในไทยที่ให้บริการได้ครอบคลุมทุกคลื่นความถี่​ในไทย และยังมีแซนด์บ็อกซ์​ที่ร่วมมือกับภาครัฐ​ และหน่วยงานต่างๆ ช่วยส่งเสริมการพัฒนา​ 5จีในไทยด้วย" นายเติ้ง กล่าว


ขณะที่ อีกห้าปีข้างหน้า หัวเว่ยวางแผนลงทุนเป็นมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อยกระดับโครงสร้างระบบเครือข่าย ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนของการวางโครงข่าย มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น