กลยุทธ์การลงทุน (8 ส.ค.62)

กลยุทธ์การลงทุน (8 ส.ค.62)

เซอร์ไพรส์จาก กนง. เมื่อวานนี้ น่าจะหนุนหุ้นที่อ่อนไหวต่อดอกเบี้ย

การปรับลงของหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ทำให้ earnings yield gap ของตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้นอีก

การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงทดสอบแนวระดับ 1,650 เมื่อวันก่อน บวกกับการที่ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อวานนี้ ทำให้ earnings yield gap ของไทยถ่างกว้างขึ้นเป็น 4.64% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 4.20% นอกจากนี้ เรามองว่าการที่ภาวะ risk-aversion ในตลาดโลกยังดำเนินต่อไป และความต้องการสินทรัพย์ประเภท safe-haven อย่างพันธบัตรรัฐบาลไทยยังสูงก็เป็นโอกาสดีที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยจะลดลงไปอีก ซึ่งแม้พิจารณาดัชนี SET ที่ประมาณ 1,680 จุดก็ตาม earnings yield gap อาจถ่างขึ้นเป็น 4.7%ได้หากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงไปเหลือ 1.50%

แต่ตลาดจะยังผันผวนในระยะสั้นท่ามกลางความยุ่งเหยิงของปัจจัยมหภาคโลก และแรงหนุนที่แผ่วลงมากจากกระแสเงินทุนไหลเข้า

ถึงแม้จะได้แรงหนุนจาก earnings yield gap และความคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เรามองว่าตลาดน่าจะยังคงผันผวนในระยะสั้น โดยเราพบว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าแผ่วลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลข % การซื้อของต่างชาติ/วอลุ่มตลาดทียบกับ % ของขายของต่างชาติ/วอลุ่มตลาด พบว่าลงมาต่ำสุดในรอบห้าเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ว่าแรงซื้อขอต่างชาติกำลังแผ่วลงไปอย่างน้อยก็ในระยะสั้น เรามองว่าปัจจัยมหภาคโลก อย่างเช่น สงครามการค้าและประเด็นค่าเงินระหว่างจีนและสหรัฐจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดจิตวิทยาการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นภูมิภาคในระยะนี้

หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยน่าสนใจ

ในขณะเดียวกัน เรามองว่าหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน โดยธีมย่อยของกลุ่มที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยได้แก่ i) กลุ่ม non-bank ที่ได้อานิสงส์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ii) กลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรชัดเจน และจ่ายปันผลในอัตราสูง และ iii) หุ้นที่มีลักษณะคล้ายพันธบัตรซึ่งมีกระแสเงินสดแน่นอน และประเมินมูลค่าโดยวิธี DCF น่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการที่อัตราผลตอบห้าปีย้อนหลังของพันธบัตร zero coupon อายุ 10 ปีของไทยที่เป็นอัตราอ้างอิงในการคำนวณ risk-free rate ในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 3.0% ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐาน risk-free rate ที่เราใช้อยู่ที่ 3.7% อย่างมาก สรุปแล้ว หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยที่เราชอบได้แก่ ADVANC*, INTUCH*, KKP*, BGRIM*, RATCH* และ LH*

SET มี downside จำกัดในระยะยาว เพราะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของไทย/โลกจะหนุนมูลค่าหุ้น

สำหรับในระยะต่อไป เราเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความเสี่ยงทางลงจำกัดเนื่องจาก i) คาดว่าทั้ง ธ.กลางสหรัฐฯ (เฟด) และ ธ.กลางยุโรป (ECB) จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีก ซึ่งจะหนุนให้มูลค่าหุ้นไทยและเอเซียสูงแม้ว่าแนวโน้มผลประกอบการ บจ. จะไม่หวือหวา เราคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนกันยายน และ ECB อาจลดดอกเบี้ยใน 4Q62 ผนวกกับอาจจะกลับมาออกนโยบายซื้อสินทรัพย์ (QE) อีกครั้งใน 1Q63 และ ii) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรน่าจะอยู่ในขาลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ earnings yield gap ถ่างกว้างขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เรายังคงมุมมองเหมือนในบทวิเคราะห์กลยุทธ์พอร์ตหุ้นเดือนสิงหาคมว่า SET จะระดับ 1,650-1,670 จุดเป็นช่วงที่น่าเข้าซื้อ ในขณะเดียวกัน เราให้เป้า SET ปีนี้ที่ 1,730 จุด อิงจาก P/E ที่ 16.5x และประมาณการ EPS ที่ 104.8