ทูตพาณิชย์โตเกียว ชี้ 'พลาสติกชีวภาพ' โตแรง

ทูตพาณิชย์โตเกียว ชี้ 'พลาสติกชีวภาพ' โตแรง

อุตสาหกรรมBio-Circular และGreen Economy เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศ

โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

ด้านการผลิตได้รับการส่งเสริมแล้วแต่ด้านการตลาดพบว่าแม้ในประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้มากนักแต่ในประเทศญี่ปุ่น โดยกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผ่านรายงานMarketing Report From Tokyo July 2019 ว่า แนวโน้มการบริโภคพลาสติกชีวภาพในภาคธุรกิจญี่ปุ่น Bioplastics หรือ พลาสติกชีวภาพ กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทูตพาณิชย์โตเกียว ชี้ 'พลาสติกชีวภาพ' โตแรง   

ข้อมูลจากสถาบันวิจัย Yano Research Institute พบว่า ในปี 2553 พลาสติก Bio-PET และ Bio-PE ถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าหลายประเภทสำหรับการบริโภคของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ตลาดพลาสติกชีวภาพในญี่ปุ่นขยายอย่างต่อเนื่อง ก่อนเริ่มทรงตัวในปี2557 และล่าสุดในปี 2560 ญี่ปุ่นผลิต Bioplastics ปริมาณถึง 47,780 ตัน ซึ่งเป็นการขยายตัว1.9%จากปีก่อน 

แม้อัตราขยายตัวจะไม่สูงมากแต่พบว่ากระแสการดูแลสภาพนิเวศทางท้องทะเลที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งลงทะเล และในปี 2561 ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ความต้องการขวด Bio-PET ที่บรรจุน้ำดื่มเพิ่มขึ้นและคาดว่าปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยปริมาณการบริโภคในปี 2561 จะอยู่ที่ระดับ 51,285 ตัน 

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลาสติกของเอเซียและของโลก โดยมีขนาดอุตสาหกรรมพลาสติกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเซียรองจากประเทศจีน อีกทั้งเป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติก จากภาชนะบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) ต่อคน สูงที่สุดอันดับ 2 ของโลก

ญี่ปุ่นจึงให้ความสนใจต่อการผลิตและบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากหลังจากประเทศจีนได้ประกาศงดการนำเข้าของเสียพลาสติกจากต่างประเทศในปี 2560 รวมถึงอีกหลายประเทศที่เริ่มงดการนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ปัญหาขยะพลาสติกในญี่ปุ่นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ เมติ ได้ออกมาประกาศมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกในกลุ่มผู้บริโภค และมีเป้าหมายในการลดการผลิตจากกลุ่ม

อุตสาหกรรมการผลิตโดยการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มหากผู้บริโภคต้องการถุงพลาสติก ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นก็เริ่มมาตรการแบ่งสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระบวนการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และมีการให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่หันมาใช้กระดาษแทนพลาสติก

ล่าสุด เมื่อ 31 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกลยุทธ์สำหรับการหมุนเวียนของทรัพยากร สำหรับผลิตพลาสติกหรือที่เรียกว่า Resource Circulation Strategy for Plastics โดยแผนงานดังกล่าว ดำเนินการคัดแยกและการรีไซเคิลขยะตามหลักคิด 3R (Reduce, Reuse และ Recycle) พร้อมทั้งเพิ่มการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถทดแทนได้ (Renewable Resource) เข้าสู่กระบวนการด้วย โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 

ลดการสร้างขยะจากพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งลงในอัตราสะสม 25% ภายในปี 2573 และสามารถนำภาชนะบรรจุภัณฑ์มาใช้ Reuse และ Recycle ได้ภายในปี 2573 และให้ได้ 100% ในปี 2578 ซึ่งตามแผนนี้มีเป้าหมายการเพิ่มใช้ทรัยากรหมุนเวียนได้ถึง 2 เท่าจากปัจจุบันและผลิตพลาสติกชีวภาพให้ได้ถึง 2 ล้านตันภานในปี 2573

“กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็มีหลากหลาย เช่น ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและสร้างระบบรีไซเคิลที่เหมาะสมถูกนำมาใช้ กระตุ้นอุปสงค์ตลาด เช่น รัฐบาลเป็นผู้นำร่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement), ให้ incentive สำหรับการใช้งานพลาสติกชีวภาพ การหันมาใช้พลาสติกชีวมวลเป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี2573”

ด้านการเคลื่อนไหวภาคเอกชนพบว่า Mitsubishi Chemical Holdings Corporation ได้เริ่มเพิ่มการลงทุนในวัสดุระดับสูงในกลุ่มชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบพลาสติกที่เบาและแข็งแรงกว่าเดิม โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาบริษัทฯประกาศร่วมลงทุนกับบริษัทด้านวัสดุและเคมีภัณฑ์ญี่ปุ่นรายอื่นอีก 10 แห่งร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในบริษัท startup

ผู้ผลิตเครื่องดื่มเองก็พบว่ามีบริษัทหลายรายที่หันมาควบคุมการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท Kirin Holdings ผลิตขวดพลาสติก R100 ที่ทำจาก ขวดพลาสติกรีไซเคิล PET 100% ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวทำ ให้กลายเป็นขวดที่เบาที่สุดที่สร้างขึ้นในญี่ปุุ่นและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ Made in Japan ของบริษัท ขวดเครื่องดื่มพลาสติกไร้ฉลากของ บริษัท Asahi Soft Drink อุตสาหกรรมพลาสติกมีทิศทางในการขยายตัวทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เมื่อมองเห็นโอกาสทางการตลาดแล้วหันกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งมีความได้เปรียบเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหมาะแก่การผลิตพลาสติกชีวภาพ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกและกำลังการผลิตระดับผู้นำโลก จึงมีศักยภาพในการผลิตพลาสติกที่ทำจากพืช (bio-based plastic) 

ดังนั้น การหันมาให้ความสนใจในเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพในภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นโอกาสอันดี และช่วยให้ประเทศได้เปิดตลาดใหม่ๆ เพราะบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องได้ออกนโยบายบริษัทในการควบคุมการใช้พลาสติกให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งคาดว่านักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตพลาสติก เช่น ผู้ส่งออกเม็ดพลาสติก รวมถึงธุรกิจอาหารเครื่องดื่มของไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบด้านปริมาณการส่งออกในระยะยาวเช่นกันหากยังใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมอยู่

นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐให้ผู้ประกอบหันมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้นแล้ว ผู้ส่งออกในปัจจุบันอาจต้องพิจารณาปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในระยะยาว โดยเฉพาะการให้ความสนใจในด้านนวัตกรรมการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศผู้ซื้อและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน