ชี้ไทยติด 1 ใน 14 ประเทศ อุบัติการณ์วัณโรคสูง

ชี้ไทยติด 1 ใน 14 ประเทศ อุบัติการณ์วัณโรคสูง

องค์การอนามัยโลก ชี้ไทยติด 1 ใน 14 ประเทศ อุบัติการณ์วัณโรคสูง ภาครัฐฯ เร่งคัดกรอง "ค้นให้พบ จบด้วยหาย"

จากสถานการณ์วัณโรคในระดับโลก ปี 2558 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2573 หรืออีก 15 ปี ข้างหน้า โดยหนึ่งในเป้าหมายคทอ การยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค ซึ่งจากรายงานวัณโรคปี 2560 คาดว่า อุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ) ของโลกสูงถึง 10.4 ล้านคน (140 ต่อแสนประชากร) มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 1.7 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี 1.03 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด โดยเสียชีวิตปีละ 4 แสนคน

พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวในงานกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องวัณโรคสำหรับประชาชนทั่วไป ณ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงสถานการณ์วัณโรคของประเทศไทยว่า วัณโรค เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ไทยติด 1 ใน 4 ของโลกที่มีภาระวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง จากการคาดการณ์ปี 2559 ไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่กลับมาเป็นซ้ำ 119,000 ราย ผู้ป่วยวัณโรคสัมพันธ์กับติดเชื้อเอชไอวี 1 หมื่นราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 4,700 ราย

10350012581690

ขณะที่ ผลดำเนินงานวัณโรคในประเทศไทย โดย สำนักวัณโรค ปี 2559 พบว่ามีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค (ผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) 70,114 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื่อเอชไอวี 6,794 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อเอชไอวี วัณโรคดื้อยาหลายขนาน 955 ราย และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง 13 ราย โดยมีผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำร้อยละ 82.9%

“ที่ผ่านมา มีหลายภาคส่วนช่วยกันเพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรค ต้องค้นให้พบ และ จบด้วยหาย โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้ร่วมมือกับ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหาและอบรม อาสาสมัครอนามัยประจำหมู่บ้านเพื่อช่วยในการรับยา ติดตามผู้ป่วยที่ขาดการรักษา ให้ไปรับการรักษาจนหายขาด และการนัดหมายให้เด็กไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค รวมถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมคัดกรองประชาชนในเขตกรุงเทพฯ” พญ.ผลิน กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การที่จะสามารถเดินตามเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรค ในอีก 15 ปีข้างหน้า ขององค์การอนามัยโลกได้ เราต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อวัณโรค ซึ่งมีกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 45 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค หรือ ระแวกใกล้เคียง เพื่อไม่ให้เขาติดเชื้อวัณโรคได้ แม้จะเพียง 5-10 คน แต่ในอนาคตจะขยายวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรัง 2-3 สัปดาห์ หรือคนรอบข้างมีเชื้อวัณโรคควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ

สำหรับความเสี่ยงที่มีผลต่อวัณโรค แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค เช่น อยู่ร่วมกับผู้ป่วย อยู่ในเมืองหนาแน่น อยู่ในชุมชนที่มีความชุกของวัณโรคสูง, ระดับที่ 2 ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่สูดเข้าร่างกาย ระยะเวลาที่สัมผัสกับผู้ป่วย ความรุนแรงของเชื้อ ภูมิต้านทาน ของผู้สัมผัสโรค ระดับที่ 3 ความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ติดเชื้อวัณโรคตลอดช่วงชีวิต มีโอกาสป่วยด้วยวัณโรคร้อยละ 10 โดยความเสี่ยงสูงในช่วง 2 ปีแรก สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 50

ระดับ 4 ความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ส่วนใหญ่เกิดจากการดูแล ควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม การวินิจฉัยไม่ดีพอ ล้มเหลวต่อการรักษา หรือการควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลไม่ดีพอ และ ระดับที่ 5 ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ อวัยวะที่เป็นวัณโรค เช่น วัณโรคเยื้อหุ้มสมอง การรักษาที่ล่าช้าหรือไม่เหมาะสม และภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม

พญ.ผลิน กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการรักษาวัณโรคทั่วไป ต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และในส่วนของวัณโรคดื้อยาต้องกินยา 2 ปี และฉีดยาต่อเนื่อง 6-8 เดือน ซึ่งล่าสุดได้มีการผลิตยาซึ่งใช้ทดแทนยาฉีดในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ซึ่งกองวัณโรคเป็นผู้กระจายยาสู่โรงพยาบาลต่างๆ สามารถลดระยะเวลาการรักษาจาก 20 เดือน เหลือเพียง 9-11 เดือน

“สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิคนไทยทุกคนที่ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาได้ใช้ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค สามารถเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อได้ฟรี ขณะที่ยาใหม่ครอบคลุมสิทธิข้าราชการ และขณะนี้กำลังพูดคุยกับประกันสังคมเพื่อให้เข้าร่วม” พญ.ผลิน กล่าวทิ้งท้าย