คลังรับข้อเสนอลดภาษีกองทุนหุ้นยั่งยืน

คลังรับข้อเสนอลดภาษีกองทุนหุ้นยั่งยืน

คลังรับข้อเสนอตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืนทดแทนกองทุนแอลทีเอฟ ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนย้ำกองทุนดังกล่าวจะตอบโจทก์การสร้างเงินออมรับสังคมสูงวัย ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยกำหนดวงเงินลงทุนที่จะได้รับสิทธิภาษี 30% ของราย

นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยภายหลังเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังวานนี้(6ส.ค.)ว่า  ได้เสนอแนวคิดการจัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืน ซึ่งเป็นกองทุนรวมรูปแบบใหม่ เพื่อนำมาทดแทนกองทุนแอลทีเอฟที่จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสิ้นปี 2562 นี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับทราบในหลักการ แต่ขอศึกษาในรายละเอียด ซึ่งมอบสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้ศึกษา

“เราเห็นด้วยที่กองทุนแอลทีเอฟสิ้นสุดบทบาทไปแล้ว เพราะเกิดเมื่อ 15 ปีก่อน วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดทุน ฉะนั้น ถ้าย้อนกลับไปคนรู้เรื่องตลาดทุนน้อย เราก็คิดว่า ถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจเข้มแข็ง ตลาดทุนก็ต้องเข้มแข็งด้วย เลยคิดตั้งกองทุนแอลทีเอฟ แต่ถึงวันนี้ โจทก์ประเทศเปลี่ยน กองทุนใหม่ที่เราเสนอเรียกว่า กองทุนหุ้นยั่งยืน”

ทั้งนี้ หลักการกองทุนหุ้นยั่งยืน คือ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ถึง 7 ปี ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนดังกล่าว จะตอบโจทก์ในด้านต่างๆ อาทิ ตอบโจทก์เรื่องประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ฉะนั้น เราต้องการที่จะให้ประชาชนมีเงินออม ซึ่งการออมผ่านตลาดทุนจะเป็นวิธีที่ได้ผลตอบแทนที่ดี และ อยากช่วยสร้างวินัยการลงทุนคนไทย โดยเฉพาะตั้งแต่วัยทำงาน เพราะถ้าดูเม็ดเงินออมยังมีอยู่น้อย จะเป็นปัญหาได้ถ้าเกษียณอายุแล้วไม่มีเงิน

นอกจากนี้ จะตอบโจทก์เรื่องลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยกองทุนหุ้นยั่งยืนนั้น คนที่รายได้สูง จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลงไปครึ่งหนึ่งจากการลงทุนในกองทุนแอลที่เอฟซึ่งเดิมเราให้วงเงินลงทุน 5 แสนบาท ก็จะลดเหลือ 2.5 แสนบาท ส่วนคนที่รายได้ไม่มาก เดิมถูกกำหนดวงเงินลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ จะขยับเพิ่มเป็น 30%

“สมมติรายได้ 1 ล้านบาท ลงทุนได้ 1.5 แสนบาท จากที่คนที่เงินเยอะได้ 5 แสน คนเงินน้อยได้ 1.5 แสน เราก็บอกว่า ตรงนี้ ให้เพิ่มจาก 15% เป็น 30% ของรายได้ ฉะนั้น กองทุนใหม่จะเอื้อคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จะได้ประโยชน์ภาษีเพิ่มเท่าตัว ขณะที่ คนรวยได้สิทธิประโยชน์ภาษีลดลงเท่าหนึ่ง เป็นการตอบโจทก์เรื่องความเหลื่อมล้ำ”

สำหรับประเภทของการลงทุนของกองทุนดังกล่าว คือ หุ้นที่ลงทุนได้จะไม่อิสระเหมือนเดิม แต่จะลงทุนได้ในหุ้นที่ยั่งยืน หุ้นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะซัพพอร์ตการลงทุนของรัฐบาล เช่น ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ อนาคตตจะมีกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีก และ จะมีช่องให้ลงทุนอะไรก็ได้

“เราประเมินว่า เงินลงทุนจากกองทุนหุ้นยั่งยืนนี้ จะลดลงจากกองทุนแอลทีเอฟ แต่ไมทราบเท่าไร ซึ่งเราอยากให้มีผู้ลงทุนรายใหม่ ปัจจุบันมียอดลงทุนในแอลทีเอฟประมาณ 3 แสนล้านบาท จำนวนคนลงทุนนับแล้วไม่เกิน 2 ล้านคน ถือว่า น้อยเมื่อเทียบกับประชากร ทั้งที่เป็นกองทุนเปิดกว้าง”

นอกจากนี้ ยังได้เสนอว่า เราสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติหรือกบช.ที่จะเน้นสร้างให้คนไทยมีเงินใช้หลังเกษียณ แต่ในแง่การบริหารเงินกองทุนนั้น เราเห็นว่า ควรให้สิทธิ์ในการจ้างบริหารกองทุนตามความต้องการของผู้ลงทุน จากเดิมภาครัฐต้องการให้มีการตั้งบริษัทกลางขึ้นมาบริหาร ซึ่งรมว.คลังก็เห็นด้วย

“เรายังเสนอว่า เราพร้อมจะเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่สนับสนุนงานของรัฐบาล เรียกว่า นักลงทุนสัมพันธ์ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆมีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไม่มี จะได้ช่วยเผยแพร่สิ่งที่รัฐบาลทำต่อนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลก และจะสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อช่วยรัฐบาลสร้างความยั่งยืน  โดยให้ภาคธุรกิจตระหนักในการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อตัวเงินอย่างเดียว”