กระแส 'น้ำลาย' อาจกร่อนความเชื่อมั่น

กระแส 'น้ำลาย' อาจกร่อนความเชื่อมั่น

กับประเด็นที่ พลพรรคฝ่ายค้าน จุดกระแสเรื่องคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ “คณะรัฐมนตรี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ไม่ครบถ้วนกระบวนความ ตามที่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนด

โดยเฉพาะวรรคท้าย ที่ว่าด้วย “การรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นที่ก่อกวนหัวใจใครหลายคน โดยเฉพาะตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” ฐานะผู้กล่าวนำ แม้ล่าสุด ผู้นำประเทศจะขอให้ยุติเรื่องนี้ เพราะว่าการกระทำนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ และการปฏิบัติราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น หัวใจสำคัญ คือ “การทำประโยชน์เพื่อประเทศและประชาชน”

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “รัฐบาลชุดใหม่” ก่อนปฏิบัติหน้าที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ถือว่าครบถ้วน

และเรื่องนี้“อดีตผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 - 2550” อย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” ปัจจุบัน คือสมาชิกวุฒิสภา การันตีว่า เมื่อขั้นตอนทำอย่างถูกต้องแล้ว ถือว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็ม และมีอำนาจโดยสมบูรณ์ที่จะบริหารราชการงานแผ่นดิน

ส่วนที่ ฝ่ายค้าน พยายามตั้งโจทย์ว่าการกระทำทุกอย่างของรัฐบาล สุ่มเสี่ยงที่จะเป็น “โมฆะ” ถือว่าเป็น มุมมองที่เห็นต่างกันเท่านั้น และเมื่อพิจารณาเชิงลึก คือ “ปมการเมือง” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ทางการเมือง

เพราะกระบวนการที่ “เสรี” มอง สอดคล้องกับประเด็นที่ “พรรคเพื่อไทย” ต่อยอด คือการเตรียมยื่นกระทู้ถามสด “พล.อ.ประยุทธ์” กลางสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์นี้ และอาจต่อยอดไปถึง การยื่น“ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ขณะที่กระแสภายนอกสภาฯ ท่ามกลางสังคมออนไลน์ และสังคมออฟไลน์ พยายามขย่ม เรื่องของความเชื่อมั่นของ ผู้นำรัฐบาล ว่าด้วยพฤติกรรมที่ส่อว่า จงใจละเว้นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เรื่องนี้แม้ฝ่ายการเมืองจะให้ความเห็นเป็นอย่างไร อาจจะต้องยุติด้วยการวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา" เลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ถึงเวลานั้นคำวินิจฉัยจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ทำให้ “ฝ่ายการเมืองไทย” ต้องหันกลับมายึดมั่น และปฏิบัติให้เป็นไปภายใต้บรรทัดฐานเดียวกัน