เน็กสเต็ป“ตระกูลลี” 7 ปีหันหัวเรือไรมอนแลนด์

เน็กสเต็ป“ตระกูลลี” 7 ปีหันหัวเรือไรมอนแลนด์

หลังจาก “ตระกูลลี” เจ้าของธุรกิจน้ำมันและแก๊ส แห่ง Ezra Holding Limited อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และร้านอาหาร จากสิงคโปร์ ผู้ที่ลงทุนในสหรัฐ จีน ฮ่องกง

เข้ามาซื้อหุ้น (Acquire) ในบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทเจเอส ออยล์ พีทีอี ลิมิเต็ด (JS Oil Pte. Ltd.) ตั้งแต่ปี 2556 ได้นำโมเดลความสำเร็จจากธุรกิจอสังหาฯระดับพรีเมียม (Luxury) จากสิงคโปร์ มาเจาะตลาดในไทย และกำลังรุกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ลี เช เต็ก ไลโอเนล หรือ ไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ. ไรมอน แลนด์ ในปัจจุบัน เปลี่ยนมือเข้ามากุมบังเหียนงานบริหารในฐานะผู้นำองค์กรแทน น้องชาย คือ ลี เช เชง เอเดรียน ลี ที่ยอมสลับเก้าอี้ให้พี่ชาย เพื่อที่จะลงไปโฟกัสที่การพัฒนาโครงการที่กำลังก่อสร้างได้อย่างเต็มที่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. ไรมอน แลนด์ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ธุรกิจอสังหาฯจากสิงคโปร์เพียงรายเดียวรายนี้ เข้ามาปักธงจับกลุ่มตลาดพรีเมียมในไทยเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่อยู่อาศัย (Luxury)ระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สัดส่วน14% ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดคอนโดในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่13.9%

“เราเป็นรายแรกๆ ที่รุกตลาดคอนโดหรู กลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้สูง จึงเข้าใจความต้องการที่พักอาศัย และไลฟ์สไตล์ลูกค้า โดยเฉพาะตลาดหรู สามารถแยกความแตกต่างกันเป็นเซ็กเมนต์ย่อยๆ จึงมีช่องว่างทางการตลาดที่เข้าไปจับกลุ่มเฉพาะที่หลากหลาย” ซีอีโอ ไรมอน แลนด์ เล่า

จากการโฟกัสตลาดคอนโดพรีเมียม ทำให้รายได้หลักไรมอน แลนด์ มีสัดส่วนมาจากที่พักอาศัยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) มาจากกลุ่มคอนโดหรูเป็นหลัก โดยระดับราคาตั้งแต่ราคา 20 ล้านบาทต่อยูนิต มีสัดส่วน 45% ราคา 10 -20 ล้านบาทต่อยูนิต สัดส่วน 32% สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าหลักของไรมอน แลนด์ คือลูกค้าระดับพรีเมียมราคาตั้งแต่ 10ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป

ผู้บริหารชาวสิงคโปร์ มองย้อนตลาดอสังหาฯในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยว่า ยังมองย้อนกลับไปว่า เป็นยุคที่เมืองไทยยังมีตลาดคอนโดหรูน้อยมาก การรุกตลาดคอนโดจึงทำให้มีรายได้ 5 ปีแรก (2556-2560) สูงกว่า 5,000 ล้านบาท มาตลอด

อย่างไรก็ตาม สัญญาณตลาดอสังหาฯเริ่มอิ่มตัวจากผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง โดยในปี2560 บริษัทมีรายได้ลดลง 3,015.9 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ192.91ล้านบาท และปี 2561มีรายได้3,326.9ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 8.60 ล้านบาท 

ความต้องการที่ลดลงนี้ ทำให้บริษัทเริ่มรุกไปที่ธุรกิจอสังหาฯที่หลากหลายมากขึ้น สู่ ธุรกิจโรงแรม สำนักงาน ร้านอาหาร และธุรกิจสุขภาพและความงาม ตามเป้าหมายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566) จะต้องมีรายได้รวมแตะ 10,000 ล้านบาท และมีรายได้ประจำ (Recurring Income) สัดส่วนจาก 5% ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 30% หรือ 3,000 ล้านบาท พร้อมกับมีเป้าหมายเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัย (Residential)ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจอาหารก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) จะมาจากการพัฒนาธุรกิจให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต (Lifestyle)ทำงาน พักอาศัย ดูแลสุขภาพ และกิน จึงมีสำนักงาน วัน ซิตี้ เซ็นเตอร์ (One City Centre-OCC) กลางเมือง จะเปิดตัวในปี 2565 ส่วนโรงแรม ภายใต้เชน Kitch Hotel และยังพัฒนาเชนอื่นๆ อีก เช่น ฟู้ดโฮเทล รวมไปถึงธุรกิจสุขภาพ เช่น การชะลอวัย หรือ การช่วยให้มีบุตร

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจตระกูลลี ถือว่า มีประสบการณ์พัฒนาเชนร้านอาหารที่ขยายสาขาในสิงคโปร์และประเทศเพื่อนบ้านแล้ว กว่า 120 สาขา จึงนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาพัฒนาในไทย และขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาเชนร้านอาหารต่างๆ ทั้งนำจากสิงคโปร์ และร้านอาหารชื่อดังในไทย อย่าง บ้านหญิง หรือ “Dink Dink” ร้านอาหารอาหารก๋วยเตี๋ยวต้มยำชื่อดัง โดยในปี 2562 มีแผนจะเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่ม 5 สาขา โดยนำเชนร้านอาหารไทยรุกไปในไต้หวัน และสิงคโปร์ ภายในปี 2563 ตั้งเป้าหมายจะมีร้านอาหารเพิ่ม 25 สาขา โดยมีเป้าหมายขยายไปในไต้หวัน สิงคโปร์และจีน

เขายังกล่าวว่า กำลังเปิดตัวแอพพลิเคชั่นจับคู่ผู้ซื้อบ้าน และผู้ขายที่พักอาศัย ที่อาจจะเป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสในอนาคต โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด