'อนุทิน' ผุดแนวคิดรับใบสั่งยาซื้อในร้านขายยาใกล้บ้าน ลดแออัดรพ.

'อนุทิน' ผุดแนวคิดรับใบสั่งยาซื้อในร้านขายยาใกล้บ้าน ลดแออัดรพ.

"อนุทิน" ผุดแนวคิดรับใบสั่งยาซื้อในร้านขายยาใกล้บ้าน ลดแออัดรพ. ลั่นไม่เพิ่มค่าใช้จ่าย-กระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการ-อำนวยความสะดวกคนไข้ เบื้องต้นเฉพาะยาที่ให้ขายในร้านขายยาได้ก่อน ยาพิเศษ-เฉพาะทางรับจากรพ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เข้าร่วมการประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง พร้อมด้วยนายสาธิต ปิติเตชะ รมช.สธ. และนพ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี ที่ปรึกษารมว.สธ.

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ทุกคนในทีมการเมืองที่เข้ามาทำงานมาดี ตั้งใจเข้ามาทำงาน เต็มใจที่จะสนับสนุนภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) อย่างสุดความสามารถ และได้เชิญนพ.สุรพงษ์ ในฐานะผู้ทำคลอดมาเป็นที่ปรึกษา ผลักดัน ทำสิ่งที่จะทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองมีศักยภาพ ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยให้เป็นประธานคณะทำงานรมว.สธ.ในเรื่องบัตรทอง มั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรของสปสช.ได้

ทั้งนี้ ตนได้รับเรื้องร้องเรียนผานทางกล่องข้อความของเฟซบุ๊กจำนวนมาก เช่น รอคิวนาน รอยานาน หรือแพทย์ดูแลไม่ดี เป็นต้น แต่ปัญหาที่ได้รับจาการสื่อสารนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสปสช.เพราะเป็นเรื่องความคาดหวังในการได้รับบริการสุขภาพยากภาครัฐ จึงต้องการให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีมากกว่าบอกว่าตัวเองจะป่วยเมื่อไหร่ก็ได้เพราะมีรักษาฟรี ต้องมุ่งเสริมสร้างสุขภาพ รวมถึง ใช้เครือข่ายต่างๆให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น bigdata ที่เป็นข้อมูลสุขภาพประชาชนที่สธ.มีอยู่จะต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลกระทรวงมหาดไทย(มท.)และหน่วยงานอื่นๆด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการในเรื่องนี้

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงหนึ่งในแนวนโยบาย 3 เรื่อง คือ 1. ภายใน 1 ปี จะมีการพัฒนาห้องฉุกเฉินครั้งใหญ่ในรพ.ประจำจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ห้องฉุกเฉินในรพ.จังหวัด ด้วยการเพิ่มมาตรฐานในการดูแล ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยแทบทักคนที่มารพ.เร่งด่วนถือเป็นกรณีฉุกเฉินหมด แต่จะต้องมีการบริหารจัดการให้ชัดเจนกรณีผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริง จะได้จัดสรรบุคลากรในการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ข้อมูลสุขภาพประชาชนจะต้องมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ และ3.การลดความแออัดของรพ. จะต้องทำให้การรอคิวไม่นานไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง พบแพทย์อีก 20-30นาที หลังจากนั้นรับใบสั่งยาไปซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน ไม่ต้องรอรับยาที่ใช้เวลานาน โดยที่สปสช.สนับสนุนงบประมาณและรพ.นำค่ายาไปจ่ายให้ร้านขายยา หากทำแบบนี้ได้จะลดความแออัด จำนวนคนไปรพ.ก็น้อยลง ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณ ก็ให้สปสช.โอนงบฯไปยังรพ.แล้วโอนต่อไปยังร้านขายยา

" วิธีการนี้ ไม่ได้เพิ่มค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่สำคัญ อำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ ที่ไม่ต้องเสียเวลารอนาน ทุกวันนี้การไปรพ.แล้วต้องรอคิวรับยาใช้เวลานาน และการใช้เวลาอยู่รพ.นานๆก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อผู้ป่วย แต่ขั้นตอนการพบแพทย์ผู้ป่วยจะต้องได้เวลาเต็มที่ ส่วนการรอรับยาหากใช้วิธีการนำร้านขายยาในพื้นที่เข้ามาร่วมได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้มีร้านขายยาคุณภาพทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้วกว่า 2 หมื่นแห่ง ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันก็มีการนำร่องอยู่แล้วบ้าง และสามารถลดการรอรับยาที่รพ.ได้มาก โดยจะเป็นยาในกลุ่มยาที่อนุญาตให้ขายในร้านขายยาได้ ส่วนยาพิเศษหรือยาเฉพาะทางต่างๆยังคงให้รับที่รพ
เช่นเดิม"นายอนุทินกล่าว

ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า มีการนำร่องใช้กลไกเช่นนี้แล้วในพื้นที่กทม. 36 แห่ง โดยให้ร้านขายยาที่สนใจมาขึ้นทะเบียนกับสปสช. แล้วมีการลงไปตรวจสอบคุณภาพร้านขายยา ที่สำคัญจะต้องเป็นร้านที่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดวัน จัดเป็นหน่วยร่วมให้บริการประเภทร้านยาชุมชนอบอุ่น

เบื้องต้นดำเนินการในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ดำเนินการมาแล้ว 4 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผล ส่วนในอนาคตอาจจะให้มีขยายสู่ยารักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ยาเบาหวาน ความดัน เป็นต้น ขณะที่การให้ผู้ป่วยรับใบสั่งยาจากรพ.แล้วไปรับยาที่ร้านขายยานั้น สามารถทำได้เพราะเป็นการสั่งยาโดยแพทย์และเภสัชกรเป็นคนจ่ายยาอยู่แล้ว

วันเดียวกัน นายอนุทิน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคหายากที่ยังไม่มีการจัดระบบการดูแลให้ครอบคลุมในระบบบัตรทอง เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่ด้วยเป็นโรคที่มีภาวะรุนแรง ทั้งมีค่ารักษาที่สูงมาก เป็นอุปสรรคเข้าถึงการรักษา จึงได้จัดตั้ง คณะทำงานพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาโรคหายาก ภายใต้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตฯ ขึ้น โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนดูแลและได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยให้บอร์ด สปสช. รับทราบในวันนี้ เบื้องต้นได้กำหนดนิยามโรคหายากสำหรับประเทศไทยเพื่อความชัดเจน คือโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหายาก (Rare disease) มีผู้ป่วยน้อยกว่า 10,000 คน และโรคหายากขั้นสุด (Ultra rare disease) มีผู้ป่วยน้อยกว่า 1,000 คน เป็นโรคเรื้อรังที่อาจทำให้พิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต้องใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่งผลต่อเศรษฐานะผู้ป่วยและครอบครัว

ในส่วนการจัดระบบรองรับ คณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดระบบบริการดูแล เสนอให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ราชวิทยาลัยเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาความพร้อมของระบบบริการทั้งในด้านบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการรองรับ การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ มีบัญชียาสำหรับโรคหายากโดยเฉพาะ ให้มีการจัดหาและต่อรองราคายา รวมถึงการจัดการในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ พร้อมกันนี้ได้เสนอจัดทำระบบข้อมูลโรคหายาก โดยให้ สปสช. ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สมาคมเวชพันธุ์ศาสตร์ เครือข่ายเวชพันธุ์ศาสตร์ มูลนิธิผู้ป่วยโรคหายากและเครือข่ายพัฒนาระบบการลงทะเบียนและจัดทำฐานข้อมูลโรคหายากระดับชาติ นอกจากนี้ให้มีการศึกษาวิจัยระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหายากเพื่อเป็นองค์ความรู้พัฒนาระบบบริการต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การจัดงบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหายาก สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้จัดสรรเป็นงบประมาณเฉพาะ เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดบริการอื่นๆ โดยพิจารณาในเรื่องความยั่งยืน เพียงพอ เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และให้ สวรส. ศึกษาช่องทางงบประมาณจากแหล่งเงินอื่นและกองทุนอื่น การบริการจัดการงบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหายากทุกสิทธิ

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ช่วงเริ่มต้นระบบด้วยงบประมาณที่จำกัด การดำเนินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุนจำเป็นต้องให้การดูแลปัญหาสุขภาพของประชากรส่วนใหญ่และที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศก่อน แล้วค่อยๆ ขยายเติมเต็มไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างกรณีของกลุ่มผู้ป่วยโรคหายากที่มีความซับซ้อนในการจัดการ ตั้งแต่การกำหนดนิยาม รายการโรคหายากที่ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยมีจำนวนน้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยบริการยังมีจำกัด การเข้าไม่ถึงการรักษาและยา เป็นต้น นำมาสู่การจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบการดูแลรักษาโรคหายากอย่างเป็นรูปธรรม และคณะทำงานฯ จะได้จัดทำรายละเอียดตามกรอบข้อเสนอในวันนี้ เพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป