'อุตตม' เร่งขยายฐานภาษี รับงบลงทุนสูง

'อุตตม' เร่งขยายฐานภาษี รับงบลงทุนสูง

รมว.คลังชี้รัฐต้องใช้งบลงทุนสูงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษี เพื่อขยายฐานรายได้ มอบสศค.ศึกษาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน ระบุภาษีอีคอมเมิร์สและภาษีพลังงานจะเป็นหนึ่งในฐานรายได้ใหม่ เตรียมเปิดใหม่กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ แหล่งทุนลดภาระงบประมาณ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการสัมมนา บางกอกโพสต์ฟอรั่ม ถึงการดำเนินงานระยะ 3 เดือนของกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการลงทุน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ฉะนั้น รายได้หลักของรัฐบาลก็จะต้องมาจากการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะถือเป็นเรื่องแรกที่จะต้องดำเนินการ โดยตนมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)และกรมจัดเก็บภาษีไปศึกษาแนวทางการยกระดับการจัดเก็บภาษีให้สามารถดูแลเรื่องการลงทุนและรักษาวินัยการเงินการคลังซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไว้ได้

“การขยายฐานการเสียภาษี จะส่งผลต่อรายได้เข้าคลัง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่รายจ่ายมากขึ้นกระทรวงการคลังก็จะต้องทำการขยายฐานภาษี แต่ประเด็นคือ การขยายฐานภาษีจะพิจารณาควบคู่กับผลกระทบที่จะมีต่องบประมาณ ซึ่งจะต้องให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีมากที่สุด”

เขากล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษีจะต้องเป็นระบบภาษีที่สร้างความเท่าเทียมอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การจ่ายภาษีเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ต้องเท่าเทียมตามความเหมาะสมกับรายได้ประชาชน ในภาคอุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการเอกชน ขณะที่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ กระทรวงคลังจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่เป็นภาระให้กับผู้จ่ายภาษี”

ส่วนภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องออนไลน์นั้น ขณะนี้ กฎหมายภาษีอีคอมเมิร์ซ(E-Commerce) ที่จัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ อยู่ที่การพิจารณาของกฤษฏีกา ซึ่งรัฐพยายามจะจัดเก็บจากบริษัทใหญ่ๆ ของต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องของสากลที่จะต้องพิจารณาว่าจะมีการจัดเก็บภาษีอย่างไร ขณะที่ ภาษีรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาษีพลังงาน เป็นต้น

“ถ้าอยากให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล จะต้องการส่งเสริมสตาร์ทอัพ(Startup)หรือคนตัวเล็กเหล่านี้ ต้องดูว่าระบบภาษีที่กำหนดขึ้นมานั้นเป็นระบบภาษีที่แฟร์และสามารถส่งเสริมประเทศในการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างฐานภาษีที่กว้างขวางพอสนับสนุนการลงทุน ขับเคลื่อนการลงทุน การพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องบุคลากรและเทคโนโลยี”

เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ข้อดีของประเทศไทย คือ เรามีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถรองรับปัญหาความผันผวนจากต่างประเทศได้ วันนี้ เราได้เตรียมมาตรการ ขอให้เชื่อมั่นว่า เรามีความพร้อมที่จะทำให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันและเดินหน้าไปได้ แต่อยากให้คิดถึงระยะยาวมากกว่า ซึ่งถือเป็นความท้าทายแท้จริงในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มขีดแข่งขันผ่านการลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านดิจิตอล ซึ่งต้องใช้งบมหาศาล ดังนั้น กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลให้เป็นการลงทุนเชิงคุณภาพไม่ใช่ลงทุนไปแล้วมีปัญหา ขณะเดียวกัน จะต้องเป็นการลงทุนที่มีเครื่องมือการเงินใหม่ๆเข้ามาช่วย โดยการขยายการเปิดกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ก็เป็นหนึ่งในทางเลือก

นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเน้นไปที่ภาคเกษตรที่จะต้องพัฒนาในลักษณะอุตสาหกรรมโดยใช้ดิจิตอลเข้าไปช่วย และ รวมถึง การเพิ่มสวัสดิการ ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้เพื่อสวัสดิการนั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยในปี 2557 ใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือ 8% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ในปี 2561 ใช้งบดังกล่าวสูงถึง 4 แสนล้านบาท หรือ 13% ของวงเงินงบประมาณ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้กลุ่มสูงอายุดังกล่าวเป็นพลังในการพัฒนาชาติ