กพอ.ชี้ชะตาแหลมฉบังวันนี้

กพอ.ชี้ชะตาแหลมฉบังวันนี้

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม กพอ.วันนี้ เคาะปมตัดสิทธิเอกชนเข้าชิงแหลมฉบังเฟส 3 กทท.ยืนยันที่ผ่านมาเดินหน้าถูกต้องโปร่งใส

 ด้าน ร.ฟ.ท.เตรียมรายงานความคืบหน้าแผนส่งมอบที่ดิน ขยายกรอบลงนามไป ก.ย.นี้ พร้อมชงอนุมัติร่างผังเมือง เร่งประกาศใช้ใน 9 ส.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันนี้ (5 ส.ค.) เพื่อพิจารณาความคืบหน้าโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.จะรายงานความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของเอกชนส่วนของซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทน หลังจากที่ กทท.เปิดซองข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่เริ่มต้นขั้นตอนเจรจา เนื่องจากต้องรอคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ พิจารณากรณีตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี

กพอ.ชี้ชะตาแหลมฉบังวันนี้

ทั้งนี้ คาดว่าการประชุม กพอ.ครั้งนี้ จะพิจารณาตัดสินกรณีตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ซึ่งจะทำให้ กทท.ทราบแนวทางดำเนินงานหลังจากนี้ ว่าจะต้องเดินหน้าเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการคัดเลือก หรือจะต้องกลับไปเปิดซองเอกสารข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี 

นอกจากนี้ กทท.ยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่เอกชนเสนอมาอย่างเป็นทางการ และเอกสารทุกฉบับยังถูกเก็บในห้องเก็บเอกสารเฉพาะโครงการนี้เท่านั้น

กทท.ยืนยันตัดสิทธิโปร่งใส

“การตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามข้อกำหนดในเอกสารคัดเลือกโครงการ (อาร์เอฟพี) และมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน ดังนั้นเราก็ยังยืนยันว่าที่ผ่านมาทำถูกต้อง และเรามีหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นว่าข้อมูลตัวเลขข้อเสนอด้านการเงินของเอกชน เราเก็บไว้อย่างดี และไม่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้”

สำหรับกรณีการตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นการตัดสิทธิในขั้นตอนข้อเสนอซอง 2 (คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ) ภายหลังที่ กทท.ตรวจสอบเอกสารข้อเสนอ และพบว่าเอกชนยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือ ปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท China Harbour Engineering Company Limited (CHEC) จากจีน

ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วยบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากจีน

ชงแผนส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.เตรียมรายงาน กพอ.ถึงความคืบหน้าการจัดทำเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการ โดยคณะทำงานของ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดร่วมกับตัวแทนกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ซึ่งมั่นใจว่าจะสรุปรายละเอียด เพื่อผลักดันให้ลงนามสัญญาภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การหารือร่วมระหว่าง ร.ฟ.ท.และกลุ่มซีพี ล่าสุดวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ตามแนวก่อสร้างที่ยังติดปัญหาระบบสาธารณูปโภคให้กลุ่มซีพีหมดแล้ว พร้อมขอให้กลุ่มซีพีเร่งทำข้อมูลเทียบเคียงกับแผนก่อสร้างโครงการ เพื่อแยกสาธารณูปโภคทั้งหมดออกเป็นรายบริษัทที่รับผิดชอบอยู่ให้เห็นภาพชัดเจน ก่อนนัดหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคเข้ามาหารือเพื่อทำแผนรื้อย้ายในวันที่ 9 ส.ค.นี้

ติดตามคืบหน้าอู่ตะเภา

แหล่งข่าวจาก สกพอ.เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะติดตามความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีทุกโครงการ โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างพิจารณาซองข้อเสนอที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ โดยเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา กองทัพเรือ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้เชิญเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กองทัพเรือยังไม่สามารถประกาศผลผู้ผ่านการพิจารณาในส่วนของซองที่ 2 ได้ เพราะรอให้ศาลปกครองตัดสินตามคำร้องของกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร(กลุ่มซีพี) ที่ขอให้พิจารณากรณีคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ ตัดสินไม่รับซองข้อเสนอที่เกินเวลายื่นซอง ส่งผลให้เอกชนรายดังกล่าว ยื่นข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 กล่องที่ 6 ขาดไป ทำให้จะไม่ได้รับคะแนนในส่วนนี้

ชงเคาะร่างผังเมืองอีอีซี

นอกจากนี้ จะเสนอ กพอ.พิจารณาร่างประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอีอีซี เรียบร้อยแล้วหลังจากรับฟังความเห็นกว่า 40 ครั้ง

ทั้งนี้ ร่างประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ดังกล่าวจะต้องประกาศบังคับใช้ภายในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ตามที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกำหนดไว้ให้จัดทำเสร็จภายใน 1 ปี โดยประเด็นที่สำคัญในการปลดล็อกให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซี ให้สามารถขยายกิจการได้ 

โดยในข้อ 19 ระบุว่า โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและยังประกอบกิจการอยู่ ให้ขยายพื้นที่โรงงานได้เฉพาะในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อเป็นแปลงเดียวกันกับแปลงที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงงานเดิม 

รวมทั้งให้รวมถึงการขยายพื้นที่ในแปลงที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติหรือถนนคั่นระหว่างแปลงที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงานเดิม ซึ่งเจ้าของโรงงานเดิมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หรือเป็นพื้นที่ในที่ดินที่เคยเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของเจ้าของโรงงานเดิมอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ