‘ทีโอที’ กร้าวมีท่อร้อยสายคลุมทั้งกทม.

‘ทีโอที’ กร้าวมีท่อร้อยสายคลุมทั้งกทม.

ท้าเดินหน้าเปิดฝาท่อพิสูจน์ความจริง

“มนต์ชัย” ลั่นทีโอทีมีท่อร้อยสายอยู่ใต้ดินเกิน 2,000 กิโลเมตร เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2497 ชี้หน่วยงานอื่นอย่าลักไก่ ระบุหากให้ดำเนินการจะเสร็จเร็วไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ชี้ตัวเลขที่กสทช.ระบุว่ามีหลักฐานแค่ 200 กิโลเมตรไม่ใช่เรื่องจริง ระบุเป็นแค่โมเดลแบบให้บริการ ลั่นพร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องเปิดฝาท่อดูของจริงทุกตารางนิ้วในกทม.

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวถึงกรณีปัญหาการก่อสร้างท่อร้อยสายว่า ข่าวที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับความจริงในหลายประการ อย่างที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจำเป็นต้องให้กรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการท่อร้อยสายจำนวน 2,400 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมพิ้นที่ในกทม.ทั้งสิ้น 2,600 กิโลเมตร เนื่องจากท่อร้อยสายที่ทีโอทีมีให้บริการอยู่มีเพียง 200 กิโลเมตรนั้นไม่เป็นความจริง

เนื่องจาก ทีโอทีดำเนินการกิจการมาตั้งแต่องค์กรโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตั้งปี 2497 ดังนั้น มีท่อร้อยสายใต้ดินครอบคลุมเกือบจะเต็มทุกพื้นที่ในถนนหลักของกทม.และมีมากเกินกว่า 2,000 กิโลเมตรแน่นอน และที่ออกมาระบุว่าทีโอทียื่นเอกสารว่ามีท่อร้อยสายเพียงแค่ 200 กิโลเมตรไม่เป็นความจริง ส่วนตนเข้าใจว่าเป็นการจับประเด็นผิด เพราะก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครได้มาขอแบบแพลนท่อร้อยสายของทีโอที และทีโอทีได้ส่งแบบท่อร้อยสายไปเพียง 200 กิโลเมตรตามพื้นที่สำคัญเท่านั้น

“ผมขอท้าให้นั่งรถหรือเดินตรวจตามถนนในกทม.เลยว่าตรงนี้ทีท่อร้อยสายของทีโอทีหรือไม่ ผมกล้าบอกเลยว่าเรามีเกิน 2,000 กิโลเมตร ไม่ใช่ 200 กิโลเมตรแน่นอน เรามีทั้งแบบที่เป็นแบบในคอมพิวเตอร์ และการจดบันทึกแบบในอดีต ซึ่งยอมรับอาจจะไม่มีเอกสารแสดงแต่เราพร้อมจะพิสูจน์ให้ดู ซึ่งเรามีทั้งท่อขนาด 4นิ้ว กว้างไปถึง 10 กว่านิ้ว”

เขาระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ต้องการจะก้าวล่วงใครหรือหน่วยงานใด เพียงแต่อยากให้เข้าใจการลงทุนมันมีของเดิมที่ใช้งานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม แต่ในเมื่อมติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้ระบุชัดเจนว่า การนำสายลงดินนอกเหนือจาก 200 กิโลเมตรที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ลงใต้ดินแล้วอีกประมาณ 2,450 กิโลเมตร ต้องให้กรุงเทพมหานครทำ และ โอเปอร์เรเตอร์ทุกรายต้องเช่ากับกรุงเทพธนาคมเท่านั้น น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะทีโอทียืนยันว่ามีหลักฐานว่าทีโอทีมีท่อพร้อมใช้งานจริงๆ

นอกจากนี้ ในแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว เขาระบุว่า เรื่องท่อร้อยสายมี 4 องค์กรสำคัญที่ต้องร่วมกันจัดการคือ 1.โอเปอเรเตอร์ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องนำสายที่เคยพาดเสามาลงดิน ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้น ต้องฟังความเห็นว่าโอเปอเรเตอร์จะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร 2.ผู้ที่มีท่อให้บริการทีโอทีต้องบริหารจัดการท่ออย่างไร คิดค่าเช่าอย่างไรให้เหมาะสม

ขณะที่ 3.ผู้กำกับดูแลคือกสทช.ที่เก็บค่าธรรมเนียมต้องดูว่าจะสามารถช่วยลดตรงไหนได้บ้างเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ และ 4. เมือง ในที่นี้คือกรุงเทพมหานครต้องพิจารณาว่าจะดูแลอย่างไรให้ผู้ดำเนินการอยู่รอดได้