วันหนึ่งจะรู้เอง 'ทำไมไม่ควรพูด?'

วันหนึ่งจะรู้เอง 'ทำไมไม่ควรพูด?'

ดูเหมือนยังไม่จบง่ายๆ สำหรับการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติทั้งในส่วนของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2

ล่าสุดเป็นกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่ครบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เนื่องจากมีบางถ้อยคำที่ขาดหายไป

เรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันทั้งจากแวดวงวิชาการ รวมถึงแวดวงการเมือง มุมหนึ่งมองว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ตายตัว ว่านายกฯ และ ครม.จะต้องกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ อันเป็นองค์ประกอบของสำคัญให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้

ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณของ “บิ๊กตู่” และ ครม.อาจมีผลกระทบทางการเมืองและทำให้รัฐบาลชุดนี้เป็นโมฆะในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นการขัดบทบัญญัติ มาตรา 53 ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐด้วย

แต่ความเห็นอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะฟากฝั่ง “พลังประชารัฐ” กลับมองว่า การเปิดประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงการตีกินเพื่อเตะตัดขา “บิ๊กตู่” และรัฐบาลเท่านั้น ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลดูเหมือนว่าจะนิ่งเงียบและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว

เมื่อประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงกันไปมา ขณะที่ฝ่ายค้านยังคงเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ว่าแท้จริงแล้ว ลืมหรือจงใจกันแน่!

ประเด็นดังกล่าวทำท่าว่าจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะท้ายที่สุดมีแนวโน้มว่า กรณีนี้อาจจะต้องไปจบที่การร้องวินิจฉัยโดยองค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

ขณะที่ความเห็นจากประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” ต่อกรณีดังกล่าวก่อนหน้านี้มีการพูดกลางสภาในทำนองว่า “สิ่งที่พูดถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ผู้พูดต้องรับผิดชอบ”

สอดคล้องกับรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย “วิษณุ เครืองาม” ที่บอกว่า “แล้ววันหนึ่งจะทราบเองว่าทำไมไม่ควรพูด?”!!