ชี้ระวัง 'ค่าโง่' จับตา! มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ มูลค่า7.9หมื่นล้าน

ชี้ระวัง 'ค่าโง่' จับตา! มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ มูลค่า7.9หมื่นล้าน

"ดร.สามารถ" ชี้ระวัง "ค่าโง่" อีกแล้ว! จับตา "มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ" มูลค่า7.9หมื่นล้าน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ระวัง! ค่าโง่อีกแล้ว ช่วงนี้ "ค่าโง่" เป็นคำฮิตติดปากในแวดวงคมนาคม เริ่มจาก "ค่าโง่โฮปเวลล์" ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท มาจนถึง "ค่าโง่ทางด่วน" ซึ่งเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 โดยมีมูลค่าข้อพิพาท 137,517 ล้านบาท

ค่าโง่คงไม่จบเพียงแค่นี้หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้สัมปทานแก่เอกชนต่อไป มีข่าวว่ากรมทางหลวงกำลังเตรียมที่จะประมูลมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร โดยให้เอกชนร่วมลงทุนด้วย ซึ่งถือเป็นการให้สัมปทานแก่เอกชน

แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศประกอบด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์เป็นระยะทางรวม 4,150 กิโลเมตร เปิดใช้แล้ว 217.5 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 350 กิโลเมตร ดังนั้น เหลือมอเตอร์เวย์ที่จะต้องก่อสร้างอีกเป็นระยะทาง 3,582.5 กิโลเมตร

การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนโดยรัฐทุกสาย บางสายใช้เงินงบประมาณ บางสายใช้เงินกู้ และบางสายใช้เงินสะสมที่เก็บจากค่าผ่านทางมาช่วยด้วย ไม่มีสายใดเลยที่ให้เอกชนลงทุนหรือร่วมลงทุน เป็นผลให้ค่าผ่านทางหรือค่ามอเตอร์เวย์ไม่แพง

แต่มาถึงปัจจุบันการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์กำลังจะเปลี่ยนจากรัฐลงทุนเองทั้งหมดเป็นรัฐกับเอกชนร่วมกันลงทุน โดยจะเริ่มจากการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ เป็นสายแรก

มอเตอร์เวย์สายนี้มีวงเงินโครงการ 79,006 ล้านบาท โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเวนคืนที่ดินเป็นเงิน 18,291 ล้านบาท ส่วนเอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้างงานโยธา (ถนน สะพาน และที่พักริมทาง) วงเงิน 53,148 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานระบบ (เช่น ระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และศูนย์ควบคุมการจราจร) และค่าควบคุมงานเป็นเงิน 7,567 ล้านบาท ในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธานั้น เอกชนสามารถขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ไม่เกินวงเงิน 53,148 ล้านบาท เอกชนรายใดขอเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุดก็จะมีโอกาสได้รับงาน

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการร่วมลงทุนโครงการโดยเอกชนนั้น เขามุ่งหวังที่จะได้กำไรมากที่สุด และลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เอกชนจึงต้องการให้รัฐช่วยอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธามากที่สุด เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างของตนเอง ดังนั้น ในการประมูลที่จะมีขึ้นคาดว่าเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลจะขอให้รัฐช่วยอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธาเป็นจำนวนเต็มหรือเกือบเต็มวงเงินงานโยธา 53,148 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้รัฐกลายเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาเสียเอง

โดยสรุป การลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,006 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยรัฐ 71,439 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.4% ประกอบด้วยค่าเวนคืนที่ดิน 18,291 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานโยธา 53,148 ล้านบาท ในขณะที่เอกชนลงทุน 7,567 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.6% ประกอบด้วยค่าก่อสร้างงานระบบ 3,822 ล้านบาท และค่าควบคุมงานรวมทั้งค่าใช่จ่ายอื่นๆ 3,745 ล้านบาท

การให้เอกชนร่วมลงทุน และให้สิทธิ์เก็บค่าผ่านทางเป็นเวลา 30 ปี ย่อมทำให้อัตราค่าผ่านทางสูงกว่ารัฐลงทุนเองทั้งหมด และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชนในกรณีที่รัฐไม่สามารถขึ้นค่าผ่านทางตามที่ตกลงกันไว้ได้ และ/หรือในกรณีที่รัฐก่อสร้างถนนสายอื่นทำให้เกิดเป็นคู่แข่งขันกับมอเตอร์เวย์ เป็นเหตุให้เอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ จนอาจกลายเป็น "ค่าโง่มอเตอร์เวย์" ขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนการลงทุนโครงการนี้เสียใหม่ โดยขอเสนอให้รัฐลงทุนเองทั้งหมด เนื่องจากเงินที่เอกชนจะร่วมลงทุนจำนวน 7,567 ล้านบาทนั้น อยู่ในขีดความสามารถของรัฐที่จะจัดหามาได้ หากไม่มีเงินงบประมาณก็ใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินสะสมที่เก็บจากค่าผ่านทาง

การลงทุนเองทั้งหมดโดยรัฐ จะทำให้ผู้ใช้มอเตอร์เวย์เสียค่าผ่านทางไม่แพง อีกทั้ง ค่าขนส่งสินค้าก็จะไม่แพง ทำให้ราคาสินค้าไม่แพงตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้มี "ค่าโง่มอเตอร์เวย์" เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอีกครั้ง